กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี รณรงค์วันโอโอดีนแห่งชาติ 2561 “สานพลังเมืองนักปราชญ์ เสริมพลังสร้างชาติด้วยไอโอดีน” มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตหญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน และประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยบูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ 25 อำเภอ
วันที่ 24 มิถุนายน 2561 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันไอโอดีนแห่งชาติ 2561 “สานพลังเมืองนักปราชญ์ เสริมพลังสร้างชาติด้วยไอโอดีน” ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมเป็นแกนหลักขับเคลื่อนในครั้งนี้ ว่า ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยดำเนินโครงการสาวไทยแก้มแดง ส่งเสริมหญิงวัยเจริญพันธุ์ให้ได้รับสารไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลทอย่างเพียงพอ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต ตลอดจนดูแลสุขภาพและภาวะโภชนาการตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงเด็กอายุ 2 ปี เป็นอย่างน้อย ตามแนวทางการขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 แรกของชีวิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กเจริญเติบโตสมวัย สติปัญญาดี โดยไอโอดีนเป็นสารอาหารที่เป็นต้นทุนทางสติปัญญาของทารกแรกเกิดที่สำคัญมากตัวหนึ่ง เนื่องจากการขาดสารไอโอดีนจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมองของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงแรกเกิด 0 – 2 ปี ซึ่งเป็นโอกาสทองของการพัฒนาสติปัญญาและไอคิวของเด็กไทย
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ปกติแล้วเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ต้องการไอโอดีนประมาณวันละ 150 ไมโครกรัม ส่วนหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรต้องการประมาณวันละ 250 ไมโครกรัม เนื่องจากใช้ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของลูก ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดสารไอโอดีนในจะแสดงผลร้ายอย่างชัดเจนต่อทารก อาจจะมีความเสี่ยงต่อการแท้งหรือในบางรายอาจมีการพิการแต่กำเนิด เช่น หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น เติบโตช้า เรียนรู้ช้า เฉื่อยชา ไอคิวต่ำกว่าปกติ 10-15 จุด หรือสติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อนที่เรียกว่าเป็นเอ๋อ ส่วนผู้ใหญ่ที่ขาดสารไอโอดีนนั้นจะส่งผล ให้เกิดภาวะไทรอยด์ต่ำ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา ประสิทธิภาพการทำงานทุกระบบลดลง
“ที่ผ่านมากรมอนามัยและภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชารัฐ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนเนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ 25 มิถุนายนของทุกปี นับจากที่สภานานาชาติ เพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ICCIDD แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหาและพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยอันเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์การเฝ้าระวังภาวะขาดสารไอโอดีนของจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างปี 2558 – 2560 โดยใช้ระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์เป็นตัวชี้วัดคือ 126.2 , 102 และ 154.3 (เกณฑ์มากกว่า 150 ไมโครกรัม/ลิตร) พบว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ครัวเรือนมีการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน คิดเป็นร้อยละ 68.2 , 79.8 และ 88.5 (เกณฑ์มากกว่าร้อยละ 90) ส่วนภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กแรกเกิด ร้อยละ 11.5, 12.5 และ 9.6 (เกณฑ์น้อยกว่า 3) ถือว่ากลุ่มนี้ยังมีภาวะขาดสารไอโอดีน สำหรับกลุ่มเด็ก 3-5 ปี การสุ่มตรวจปัสสาวะทุก 2 ปี พบว่าไม่ขาดสารไอโอดีน แต่สิ่งที่ยากในการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนคือความยั่งยืน เพราะแม้จะดำเนินการสำเร็จแต่ปัญหาอาจกลับมาอีกหากไม่มีการดำเนินงานที่เข้มข้นและต่อเนื่อง ดังนั้น เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติปี 2561 นี้ จังหวัดอุบลราชธานีจึงร่วมกับกรมอนามัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดงานรณรงค์วันไอโอดีนแห่งชาติ 2561 “สานพลังเมืองนักปราชญ์ เสริมพลังสร้างชาติด้วยไอโอดีน” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งแต่หญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน และประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยบูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอทั้ง 25 อำเภอ มุ่งเน้นประชาชนในท้องถิ่นร่วมเป็นเจ้าของการดำเนินงาน เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและของชุมชนหรือหมู่บ้านตนเองแบบประชารัฐตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างแท้จริง