กรมชลประทาน ยืนยันปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงพอใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ แต่ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(25 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 49,424 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,529 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,741 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,045 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ ที่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศได้ มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้นประมาณ 17,699 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันทั้งสิ้น ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม.(แยกเป็นปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวมกัน 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ตั้งแต่วันที่ 1 – 25 พ.ย. 62 ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,237 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 13 ของแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการนำน้ำไปใช้แล้วประมาณ 689 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้ มีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก(ปี 2561 มีปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศประมาณ 23,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรได้กว่า 8,000 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และปลูกพืชต่อเนื่องบางส่วนเท่านั้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำระหว่างร้อยละ 31-50 ของความจุอ่างฯ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนประแสร์ ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกร ให้ร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้
*************************************************