เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงฤดูฝนปี 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าค่าปกติ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำท่าในลุ่มเจ้าพระยามีไม่มากนักกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอย่างจำกัด พร้อมวอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(22 พ.ย. 62)มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,796 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกันเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 5,100 ล้าน ลบ.ม. แยกแต่ละเขื่อนได้ดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,848 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 2,048 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,150 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,300 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 440 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำรวมกัน 316 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 313 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อนำปริมาณน้ำในแต่ละอ่างฯ ดังกล่าวมาเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว (ปี 2561) ทั้ง 4 อ่างฯ มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 40, 37, 34 และ 56 ตามลำดับ ซึ่งปริมาณน้ำในปีนี้ (ปี 2562) จะคล้ายคลึงกับปริมาณน้ำในปี 2558 ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำน้อย กรมชลประทาน จึงได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองบางส่วนมาช่วยสนับสนุนตามศักยภาพรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 500 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก ส่วนการเกษตรจะใช้กับพืชที่ต้องใช้น้ำต่อเนื่องได้บางส่วน ปัจจุบัน (22 พ.ย. 62) มีผลการจัดสรรน้ำไปแล้ว 601 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15 ของแผนจัดสรรน้ำ
กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมกับจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในเรื่องของสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง จึงขอวอนให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้
****************************************************