หลายปีที่ผ่านมา “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ถูกกล่าวถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะยังขาดความตระหนักและความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วภาวะดังกล่าวใกล้ตัวและร้ายแรงกว่าที่คิด ซึ่งในขณะนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในโรคหัวใจที่กำลังแพร่หลายในเอเชียแปซิฟิกของชาวมิลเลนเนียลที่ถูกกระตุ้นด้วยสังคมผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณะสุข ทั้งด้านการเงินและความเป็นอยู่ของผู้ป่วย
หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นระริก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เอเอฟ” (AF: Atrial Fibrillation) คือการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ ส่วนมากหัวใจจะเต้นเร็วเกินไป มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที (ปกติจะอยู่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที) จนส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อของหัวใจห้องบนทั้งสองห้องไม่สัมพันธ์กัน
จากรายงานวิจัยเรื่องผลกระทบของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียแปซิฟิก (Beyond the Burden: The Impact of Atrial Fibrillation in Asia Pacific 2019)* พบว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากถึง 5 – 6 เท่า หลอดเลือดสมองอุดตัน 2.5 – 3 เท่า และเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 – 3 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2593 มีการคาดเดาว่าจำนวนผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียจะมีมากถึง 72 ล้านคน และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีผู้ป่วยมากเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกาเหนือรวมกัน
อ.นพ.ธัชพงศ์ งามอุโฆษ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจริงๆ แล้วมีเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นภาวะนี้คืออายุ และเนื่องด้วยสังคมปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด เบาหวาน ไขมันสูง และผู้ที่เคยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต”
อาการโดยทั่วไปของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะคือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก ซึ่งมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยออกกำลังกายได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม อ.นพ.ธัชพงศ์ กล่าวว่า “เนื่องจากอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อยครั้งไม่ชัดเจนเหมือนโรคหัวใจชนิดอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่คิดว่านั่นคือความผิดปกติที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่มาหาหมอครั้งแรกด้วยอาการอัมพาต บ้างมาด้วยอาการหัวใจล้มเหลวจากภาวะน้ำท่วมปอด” ซึ่งสอดคล้องกับรายงานฯ ที่พบว่า 15 – 46% ของผู้ป่วยในเอเชียแปซิฟิกไม่มีอาการ และผู้ป่วย 10.7% มีอาการเรื้อรังขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี
นอกจากนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะยังก่อให้เกิดภาระในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งด้านการเงิน ครอบครัว และคุณภาพชีวิต จากรายงานข้างต้น ผู้ป่วยในเอเชียแปซิฟิกมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นถึง 1.8 – 5.6 เท่าในทุกๆ 10 ปี และมากถึง 57% กล่าวว่าคุณภาพชีวิตถูกบั่นทอน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวและใช้เวลาโดยเฉลี่ย 5 ถึง 12.5 วันต่อปีในโรงพยาบาล ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อปีกว่า 2,400 เหรียญสหรัฐในไต้หวัน (ประมาณ 73,000 บาท) 3,600 เหรียญสหรัฐในไทย (ประมาณ 109,000 บาท) และเกือบ 9,000 เหรียญสหรัฐในเกาหลี (ประมาณ 273,000 บาท)
ศาสตราจารย์ภิชาน นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษ ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ รพ.บำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “ประเทศไทยมีการติดตามและร่วมการศึกษากับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกเพื่อติดตามการรักษาและสถานการณ์ของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจในไทยนั้นค่อนข้างจำกัด โอกาสต่อยอดและการฝึกฝนจึงมีน้อยตามไปด้วย ทำให้แพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในการรักษาในไทยมีจำนวนไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย” อย่างไรก็ดี การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในปัจจุบันนับว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก การรักษามี 2 วิธีหลักๆ ได้แก่
- การใช้ยาเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอย่างยาละลายลิ่มเลือดควบคู่กับการควบคุมการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป หรือการใช้ยาเพื่อให้หัวใจเต้นเป็นปกติตลอดเวลา กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย ร่างกายจะไม่ตอบสนองกับยากลุ่มหลัง ทั้งนี้ทั้งนั้นยาทั้ง2 กลุ่มไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาอาการให้หายขาด ยังคงความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเป็นอัมพฤตอัมพาตและโรคต่างๆ ที่อาจตามมาอยู่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาตลอดชีวิตอีกด้วย ก่อให้เกิดปัญหาด้านค่าใช้จ่าย
- การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Catheter Ablation)นับเป็นวิทยาการล่าสุดและมีวิธีกระบวนการรักษาที่ต่างกันออกไปแล้วแต่เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น นพ.กุลวี อธิบายถึงการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีที่ท่านกำลังใช้อยู่ว่า “เป็นการรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุผนวกกับการจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจ 2 ห้องบนพร้อมประมวลผลและแสดงความซับซ้อนของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจโดยใช้สีเพื่อจำลองหัวใจผู้ป่วยให้เสมือนจริงมากที่สุด ทำให้การหาตำแหน่งและจี้ทำลายจุดที่ก่อให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชัดเจนและแม่นยำขึ้น เป็นการรักษาที่ต้นเหตุโดยตรง ทำให้การฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น” งานวิจัยของ นพ.กุลวี ในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถหายขาดได้ อายุยืนขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีโอกาสน้อยกว่า 3 – 4% ที่อาการจะกลับมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยด้วย
คุณหมอทั้งสองท่านกล่าวเหมือนกันว่า เราควรตรวจดูชีพจรหรืออัตราการเต้นของหัวใจเป็นประจำ เพราะหากตรวจเจอเร็วก็จะสามารถรักษาได้แต่เนิ่นๆ เปอร์เซ็นต์การหายขาดก็จะเพิ่มขึ้นตาม แต่ที่สำคัญที่สุดเราควรมีวินัยในการดูแลสุขภาพตัวเอง ป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แล้วคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะตามมา
*รายงานวิจัยเรื่องผลกระทบของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียแปซิฟิก (Beyond the Burden: The Impact of Atrial Fibrillation in Asia Pacific 2019) คือรายงานสถิติที่ถูกรวมรวบโดย Biosense Webster ผู้นำระดับสากลด้านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการวินัจฉัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สถิติและข้อมูลในรายงานถูกรวบรวมจากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์และการค้นคว้าทางคลินิก ทั้งนี้ ข้อมูลด้านความแพร่หลายและค่ารักษาพยาบาลถูกรวบรวมจากงานวิจัยที่ถูกจัดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ตัวเลขจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลง
อินโฟกราฟิค “ผลกระทบของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเซียแปซิฟิก”