กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก จากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วทางห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจสารพันธุกรรม ด้วยวิธีเรียลไทม์ อาร์ที พีซีอาร์ (Real – time RT – PCR) ทราบผลรวดเร็วภายใน 8 ชั่วโมง ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาโรคไข้เลือดออกได้ และแยกโรคอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เชื้อไวรัสเดงกี่ เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสซิกา และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี สามารถแบ่งเชื้อไวรัสเดงกี่ได้เป็น 4 ชนิด คือ ไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 1 ไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 2 ไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 3 ไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 4 การติดเชื้อไวรัสเดงกี่ในคน มียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ นอกจากนี้ยุงยังสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสนี้จากรุ่นสู่รุ่นได้ ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกี่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2549 – 2560 คาดว่าในปี 2561 จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 74,000- 75,000 ราย และคาดว่าจะมีอัตราผู้ป่วยตายสูงกว่าปกติ ทั้งนี้ชนิดของไวรัสที่ระบาดในแต่ละปีแตกต่างกัน ซึ่งในปี 2560 เป็นไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 1 และ ไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 2 สำหรับในปี 2561 (ถึงเดือน พฤษภาคม 2561) เป็นไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 1 ไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 2 และไวรัสเดงกี่ชนิดที่ 4
หลังได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5–8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาการเลือดออกที่พบในระยะนี้ คือ จุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟันได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ ยกเว้นแต่บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ดังนั้น หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและการตรวจยืนยัน ก็จะสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระบบการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ ด้วยการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจสารพันธุกรรม ด้วยวิธีเรียลไทม์ อาร์ที พีซีอาร์ (Real – time RT- PCR) ที่ให้ทั้งความไว และความจำเพาะสูง สามารถแยกชนิดของเชื้อไวรัสเดงกี่ ได้ด้วยตัวอย่างตรวจที่เหมาะสมคือ ซีรัมหรือพลาสมาชนิด EDTA ที่เจาะจากผู้ป่วยภายใน 0–7 วันหลังจากเริ่มป่วย สามารถตรวจและรู้ผลรวดเร็วภายใน 8 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีการตรวจแอนติบอดี้ชนิดไอจีเอ็ม (IgM) และ ไอจีจี(IgG) ที่จำเพาะต่อไวรัสเดงกี่ด้วยวิธีอิไลซ่า (ELISA) ซึ่งจะสามารถยืนยันการติดเชื้อได้เช่นกัน
“โรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ยังไม่มียารักษาและการพัฒนาวัคซีนยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ประชาชนสามารถป้องกันการติดเชื้อโดยหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด ใช้สารเคมีฉีดพ่นไล่ยุง ทายากันยุง นอนในมุ้ง ใช้ฝาปิดภาชนะเก็บน้ำใช้ และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านและรอบบ้านพักอาศัย” นายแพทย์สุขุมกล่าว