กรมส่งเสริมการเกษตรติดอาวุธเจ้าหน้าที่หนุนพัฒนาคุณภาพไม้ผลภาคตะวันออกครบวงจร

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาสร้างความเข้าใจโครงการและพัฒนาความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ หลักสูตร “การปฎิบัติงานโครงการไม้ผลและวิชาการพัฒนาคุณภาพไม้ผลครบวงจร” พร้อมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพไม้ผลภาคตะวันออกให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรใน 9 จังหวัดภาคตะวันออก รวม 70 คน ณ โรงแรม เพลย์ พลา บีช ระยอง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพิ่มทักษะให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความสามารถในด้านการพัฒนาคุณภาพผลไม้เศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างครบวงจร และสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงาน 3 โครงการ คือ

1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ไม้ผล) โดยพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลให้มีความรู้ ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้ตามความต้องการของตลาด ตลอดจนบริหารจัดการผลไม้อย่างเป็นระบบสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ผลไม้ และคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) มีเป้าหมายเกษตรกร 900 ราย ใน 9 จังหวัด สำหรับแผนการดำเนินงานพัฒนาการผลิตไม้ผลแบบมีส่วนร่วมจะจัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลและจัดทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบไม้ผล เป็นต้น
2. โครงการพัฒนาการผลิตสินค้าด้านการเกษตร ภาคตะวันออก เน้นพัฒนาสินค้าเกษตรไม้ผล เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยมาตรฐานการรับรอง GI และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป้าหมายเกษตรกร 270 ราย 9 จังหวัด ได้พัฒนาคุณภาพไม้ผลที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคตะวันออก อย่างน้อย 1 ชนิด ให้ได้รับมาตรฐาน GAP และสร้างมูลค่าเพิ่มสู่กระบวนการรับรองสินค้า GI สำหรับแผนการดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรเตรียมจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษาด฿งาน ทำแปลงเรียนรู้ จังหวัดละ 1 แปลง การทำแปลงรวบรวมพันธุ์ สัมมนาเชื่อมโยงเครือข่าย/การผลิตและการตลาด จนเข้าสู่กระบวนการรับรอง GI
3. โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต จลอดจนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถยกระดับเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี และตราด


สำหรับประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและการส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันเกษตรกรมีการปลูกไม้ผล 57 ชนิด พื้นที่ประมาณ 7.3 ล้านไร่ ผลผลิตปีละประมาณ 11.25 ล้านตัน ผลผลิตร้อยละ 80 บริโภคผลสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคของประชากรภายในประเทศ อีกร้อยละ 20 ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยในปี 2561 มีมูลค่าส่งออกผลไม้สดในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ประมาณ 76,700 ล้านบาท โดยผลไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจในการส่งออกมากที่สุด คือ ทุเรียน (คิดเป็นร้อยละ 46.06) รองลงมา ได้แก่ ลำไย (คิดเป็นร้อยละ 37.49) มังคุด (คิดเป็นร้อยละ 9.50) มะม่วง (คิดเป็นร้อยละ 5.72) เงาะ (คิดเป็นร้อยละ 0.72) ลิ้นจี่ (คิดเป็นร้อยละ 0.45) และลองกอง (คิดเป็นร้อยละ 0.06) ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยส่งออกผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีนมากที่สุด ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าส่งออกผลไม้สดในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก

โดยภาคตะวันออกเป็นแหล่งไม้ผลคุณภาพดี มีการผลิตอย่างหลากหลายและมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ไม้ผลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง กล้วย ขนุน และส้มโอ ดังนั้น การขยายผลส่งเสริมการผลิตไม้ผลให้มีคุณภาพครอบคลุมพื้นที่แหล่งผลิตภาคตะวันออก จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมและพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสู่มาตรฐานการส่งออกควบคู่ไปกับการแปรรูป เพื่อทำให้การผลิตการเกษตรภาคตะวันออกครบวงจรนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีพัฒนาการผลิตไม้ผลสู่การเกษตรสมัยใหม่ 4.0 ให้มากขึ้น

“ปัจจุบันการผลิตไม้ผลของไทยนับวันยิ่งประสบกับปัญหาสภาวะการแข่งขันที่มีข้อกำหนดเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวด และผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาราคาปัจจัยการผลิต แรงงานและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแย่งส่วนแบ่งตลาดผลไม้ไทย จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้มีปริมาณและผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานส่งออกเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สร้างเอกลักษณ์ของสินค้า เป็นสินค้าที่ปลอดภัยมีการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับผลผลิต โดยใช้ QR Code ให้มากขึ้น และสนองนโยบายตลาดนำการเกษตรของรัฐบาล โดยการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม นำไปสู่การลดต้นทุนและสินค้ามีคุณภาพ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

**********************************************