สธ. รณรงค์ “ส้วมปลอดภัย สุขใจทุกคน (Safe Toilets for All)” เน้นส้วมสาธารณะ ต้องสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย

ณ ทำเนียบรัฐบาลกรุงเทพมหานคร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมนิทรรศการพร้อมทั้งร่วมรณรงค์ “ส้วมปลอดภัย สุขใจทุกคน” (Safe Toilets for All) เนื่องในวันส้วมโลก ประจำปี 2562   ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมใส่ใจรักษาคุณภาพส้วมสาธารณะ

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก ในปีนี้ องค์การส้วมโลก (World Toilet Organization) ได้กำหนด Theme คือ “Toilets for All – Leaving No One Behind” เพื่อรณรงค์ยุติการขับถ่ายในที่โล่ง และส่งเสริมให้   ทุกคนสามารถเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ดี โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กรมอนามัยในฐานะตัวแทนการรณรงค์ส้วมโลกในประเทศไทย จึงดำเนินกิจกรรมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ส้วมปลอดภัย สุขใจทุกคน (Safe Toilets for All)” โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างส้วมที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัย จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับ     ผู้พิการ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ มีแสงสว่างเพียงพอ แยกเป็นสัดส่วนชาย-หญิง รวมทั้งในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้เกี่ยวข้องสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ทุกเพศทุกวัยใช้ส้วมที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัยและเท่าเทียม ในสถานที่สาธารณะเป้าหมาย 12 ประเภท ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะริมทาง และห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ดำเนินการสำรวจส้วมสาธารณะตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระหว่างปี 2549-2562 ในภาพรวมมีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดีขึ้นจากร้อยละ 9.08 มาเป็นร้อยละ 72.18 และจากการสำรวจการปนเปื้อนเชื้อโรคในห้องส้วมพบเชื้อ   อี.โคไล (E. coli) ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โดยพบมากที่สุดบริเวณพื้นห้องส้วม ที่รองนั่งโถส้วม ที่จับสายฉีดชำระ ซึ่งการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน จึงเกิดแนวคิดในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ “ส้วม 3 ดี มีทุกที่ เพื่อทุกคน” คือ  1) สะอาดดี (Health) หมายถึง ห้องส้วมและสุขภัณฑ์ทั้งหมด ต้องมีความสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น สภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชน   มีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง 2) เพียงพอดี (Accessibility) หมายถึง ห้องส้วมต้องมีจำนวนที่เพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้พิการ ผู้สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ รวมถึงจัดให้มีส้วม   ที่เหมาะสมตามหลักอารยสถาปัตย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ง่ายขึ้น และ 3) ปลอดภัยดี (Safety) หมายถึง ส่งเสริมการสร้างส้วมที่ปลอดภัย ไม่ตั้งอยู่ในจุดที่ลับตาคน มีแสงสว่างเพียงพอ แยกเป็นสัดส่วนชายหญิง และการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในส้วม

“เนื่องจากปัจจุบันนี้ เจ้าของส้วมสาธารณะส่วนใหญ่ ได้มีการพัฒนาส้วม รวมทั้งมีการบริหารจัดการให้ส้วมสะอาด เพียงพอกับผู้มาใช้บริการที่ดีขึ้น ดังนั้นประชาชนที่ใช้บริการจึงต้องให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาดของส้วม และที่สำคัญคือต้องมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง คือ 1) ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ   2) ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดนอกจากกระดาษชำระลงในโถส้วม 3) ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และ4) ล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของทุกคน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

*************************************************