‘พาณิชย์’ สานต่อนายกฯประยุทธ์ จัดประชุม JSC ความมั่นคงทางอาหารไทย-บาร์เรน ส่งเสริมสินค้าเกษตรและฮาลาลไทยไปตะวันออกกลาง

กระทรวงพาณิชย์เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการร่วม (Joint Steering Committee: JSC) ระหว่างไทยกับบาห์เรน ด้านความมั่นคงทางอาหาร การค้า และการลงทุน ในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ครั้งที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม 2561 เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลระหว่างไทยกับบาห์เรน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการเดินทางเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนเมษายน 2560 โดยทั้งสองประเทศเห็นชอบที่จะขยายความร่วมมือด้านต่างๆ รวมทั้งด้านความมั่นคงทางอาหารฯ จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมฯ ขึ้น ซึ่งนำมาสู่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม  JSC ไทย – บาห์เรน ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) จะเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการท่องเที่ยวของบาห์เรน (นายซาเยด บิน ราชิด อัล ซายานี) เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมฮาลาลที่ทั้งสองมีประเทศมีศักยภาพและเอื้อประโยชน์ต่อกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของไทยในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลของไทยในตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ และข้าวทางเลือกต่างๆ เช่น ข้าวเพื่อสุขภาพ และข้าวขาวที่มีลักษณะคล้ายข้าวบาสมาติ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดตะวันออกกลาง รวมทั้งผลักดันการส่งออกสับปะรดสายพันธุ์ MD2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มปลูกในประเทศไทยและเหมาะกับการส่งออก เนื่องจากภายหลังการเก็บเกี่ยวสามารถเก็บรักษาได้นานเป็นระยะเวลาถึง 1 เดือน พร้อมทั้งใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำผ่านการหาลู่ทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีความจำเป็นต้องนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรในปริมาณสูง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นทะเลทรายและพื้นที่สำหรับการเกษตรและชลประทานมีอย่างจำกัด

นางอรมน เสริมว่า แม้ประเทศบาห์เรนจะมีขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 7.2 แสนคน และแรงงานต่างชาติอีก 6.8 แสนคน แต่เป็นประเทศที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง มีนักท่องเที่ยวกว่าปีละ 11 ล้านคน จึงเป็นตลาดสินค้าระดับบน และเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้แก่ไทยได้ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมและสปา เป็นต้น นอกจากนี้ บาห์เรนยังเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) มีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าในอ่าวเปอร์เซีย ห่างจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของซาอุดีอาระเบียเพียง 24 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลตะวันตกของกาตาร์ 27 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยสะพานและเชื่อมสู่ตลาด GCC ซึ่งมีประชากรกว่า 54 ล้านคน ประกอบกับมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้ ล่าสุด บาห์เรนเพิ่งค้นพบบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการผลิตน้ำมันมา 90 ปี โดยคาดว่าแหล่งน้ำมันดังกล่าว มีปริมาณน้ำมันดิบอย่างน้อย 8 หมื่นล้านบาร์เรล และมีก๊าซธรรมชาติ 10 – 20 ล้านลูกบาศก์ฟุต ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยสามารถเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้แก่บาห์เรน และบาห์เรนสามารถเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ไทยได้

ในปี 2560 บาห์เรนเป็นคู่ค้าลำดับที่ 65 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 9 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 290.12 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 21.70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปบาห์เรนเป็นมูลค่า 155.91 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากบาห์เรนเป็นมูลค่า 134.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 87.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 16.79 เมื่อพิจารณาศักยภาพการค้าของสองฝ่ายแล้ว มูลค่าการค้าระหว่างกันยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและอบแห้ง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากบาห์เรน ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

———————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์