นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever, ASF) ปัจจุบันพบการระบาดทั้งหมด 29 ประเทศ แบ่งเป็น ทวีปแอฟริกา 5 ประเทศ ทวีปยุโรป 13 ประเทศ และทวีปเอเชีย 11 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ สปป.ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากมีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และแนวเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกา ซึ่งบูรณาการทุกภาคส่วนมาร่วมกันดำเนินการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยรัฐบาลยกระดับแผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้ง War Room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค มีการซ้อมรับมือทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัย อีกทั้งร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ OIE , FAO จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลการเฝ้าระวัง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ มีมาตรการในการป้องกัน คือ การประกาศระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกร ผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังในการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอพลิเคชั่น E-SmartPlus พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (เร่งด่วน) เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อาทิ ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคในพื้นที่เสี่ยงสูง รถกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรคระบาด และเครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมในสภาพจริงแบบเคลื่อนที่ เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณการบริโภคในปี 2561 จำนวน 498,031 ตัว มีความต้องการในตลาด 647,440 ตัว แบ่งเป็น การบริโภคในประเทศ และการส่งออก ทั้งการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังจะมีการช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนอาชีพไปเลี้ยงโคเนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และการปลูกพืชอาหารสัตว์ 2 ไร่ เป็นต้นด้วย
“อยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการยกระดับมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าว เช่น การตรวจสอบและตรวจยึดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสุกรที่นักท่องเที่ยวนำติดตัวมา การจัดการเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในโรงแรมและสถานประกอบการร้านอาหาร และการกำหนดมาตรการควบคุม กำกับดูแลแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์สุกรที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น หากทุกภาคส่วนมีความร่วมมือกัน เชื่อว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทยได้” นายเฉลิมชัย กล่าว
*******************************************************