กรมควบคุมโรค และภาคีในพื้นที่เขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลเมือง สสจ. และสคร. ทั้ง 12 แห่ง ร่วมกันเดินหน้าวางระบบการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เขตเมือง รองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตลอดจนสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพในพื้นที่เขตเมืองบางโรคสูงมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับภาพรวมประเทศ ชี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง
วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ที่ โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเจริญเติบโตของพื้นที่เขตเมืองในปัจจุบัน ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ความหลากหลายและความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น ปัญหาโรคและภัยสุขภาพ รวมถึงปัญหาเชิงสังคม เช่น ปัญหาของวัยรุ่น ปัญหาอุบัติเหตุ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวพื้นที่เขตเมืองและเขตปกครองพิเศษ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการและจริงจัง เพื่อลดปัญหาต่างๆ
สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่เขตเมืองที่ผ่านมา ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โดยพื้นที่เขตเมืองมีค่าเฉลี่ยอัตราป่วยสูงกว่าภาพรวมประเทศ 2.04 เท่า อีกทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ ที่การกระจุกตัวของประชากร อาจทำให้การแพร่กระจายเชื้อ สามารถแพร่ได้รวดเร็วมากขึ้น จากช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2554-2558) พื้นที่นี้มีอัตราป่วยสูงกว่าภาพรวมประเทศถึง 2.63 เท่า รวมไปถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด และการบาดเจ็บจากการจราจร ในพื้นที่เขตเมืองมีแนวโน้มสูงขึ้นมากและเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
กรมควบคุมโรค จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เขตเมือง อาทิ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลเมืองของจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 แห่ง เตรียมการวางแผนหากลไกและวิธีการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพให้เหมาะสมกับบริบทของเมือง เพื่อรองรับกับการเติบโตของประชากรเมืองที่คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2593 ทั่วโลกจะมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 67 สำหรับประเทศไทยการเพิ่มขึ้นของประชากรในเมืองจากร้อยละ 29 เมื่อปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในปี 2559 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
นายแพทย์สุวรณชัย กล่าวอีกว่า การประชุมวางแนวทางการพัฒนา “ระบบและกลไกการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เขตเมือง” จำเป็นต้องพิจารณาในหลากหลายมิติ อาทิ มิติด้านสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในเขตเมือง สภาพทางสังคมในบริบทเฉพาะของเมืองและมิติอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อวางระบบฯที่เหมาะสมและสามารถจัดการกับปัญหาได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422