พาณิชย์แจงข้อเรียกร้องราคาข้าวไม่เป็นธรรม ยันรัฐบาลเดินหน้าประกันรายได้ ควบคู่นโยบายรักษาเสถียรภาพราคาข้าว มุ่งสร้างรายได้ให้เกษตรกร

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่มีประเด็นข้อเรียกร้องราคาข้าวไม่เป็นธรรม โดยเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีราคาข้าวตกต่ำ โดยข้าวเปลือกหอมมะลิคุณภาพดี เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 12 บาท ขณะที่ข้าวเหนียวราคากิโลกรัมละ 60 บาท กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ขอชี้แจงว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนเรื่องที่ 4 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม กำหนดเป้าหมายรายได้เกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตทางเกษตรที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการชดเชย การประกันรายได้

ซึ่งนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันและป้องกัน ความเสี่ยงให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต โดยไม่เป็นการแทรกแซงกลไกตลาด และรัฐไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ โดยกำหนดราคาประกันรายได้ ข้าวเปลือกแต่ละชนิดความชื้นไม่เกิน 15% (ข้าวแห้ง) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท (3) ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท และ(5) ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท

ทั้งนี้ กรณีข้าวเปลือกหอมมะลิปัจจุบันอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต มีราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสด (ความชื้น 28% – 30%) ตันละประมาณ 12,000 – 13,500 บาท หรือ หากคิดเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิที่มีความชื้นไม่เกิน 15% เกษตรกรจะจำหน่ายข้าวเปลือกได้ที่ตันละ 15,000 – 17,000 บาท ซึ่งยังสูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันรายได้ อย่างไรก็ตาม แม้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะมีราคาดี แต่รัฐบาลยังคงมีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยดำเนินมาตรการคู่ขนานไปกับโครงการประกันรายได้ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เก็บข้าวไว้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงเดือน พฤศจิกายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้มีมติเห็นชอบกรอบการขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 2,572.5 ล้านบาท ดังนี้ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้สินเชื่อเกษตรกรรายบุคคล และ สถาบันเกษตรกร เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บตันละ 1,500 บาท วงเงิน 1,500 ล้านบาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่ สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือ เพื่อการแปรรูป โดย สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยในร้อยละ 3 ต่อปีวงเงิน 562.5 ล้านบาท (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป้าหมายให้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ รับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกรแล้วเก็บ เป็นระยะเวลา 2–6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 วงเงิน 510 ล้านบาท

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการดูแลให้ความเป็นธรรมในการซื้อขายข้าวเปลือก กรมการค้าภายในได้เข้มงวดกวดขันในการกำกับดูแลตรวจสอบการชั่ง เครื่องวัดความชื้น การหักน้ำหนักสิ่งเจือปน และการปิดป้ายแสดงราคา ณ จุดรับซื้อของผู้ประกอบการทุกราย โดยได้มีการสุ่มตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด หากเกษตรกรพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ ถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง

********************************************************