แนะผู้สูงอายุบริหารกล้ามเนื้อหูรูดช่วยภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้

กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุฝึกปฏิบัติเพื่อให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งเรื่องอาหารการกิน ฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ และบริหารกล้ามเนื้อหูรูดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขอนามัยที่ดีและเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน

นายแพทย์ปานเนตร  ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัญหาที่มักสร้างความกังวลใจให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเวลาที่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน คือ อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ โดยผู้หญิงสูงอายุจะประสบปัญหามากกว่า ผู้ชายสูงอายุถึงสองเท่า และอาการนี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ปัสสาวะที่ราดออกมาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้คือภาวะที่มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาโดยไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและกลั้นได้ ทั้งด้านปริมาณและความบ่อยของการขับถ่ายปัสสาวะ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ 1. ปัสสาวะเล็ด เกิดจากหูรูดท่อปัสสาวะหดรัดตัวได้ไม่ดี หรือมีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้ความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้น ส่งผลให้หูรูดท่อปัสสาวะไม่สามารถควบคุมการไหลของปัสสาวะ 2. ปัสสาวะราด เกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ จะมีปัสสาวะราดออกมาทันที ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ทัน 3. ปัสสาวะเล็ดราด เช่น ต่อมลูกหมากโต ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย อาจเล็ดออกมาเองในปริมาณน้อยๆ แต่ออกมาเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีอาการปวดปัสสาวะ 4. ภาวะที่เกิดจากโรคทางกายที่ไม่ใช่ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคข้อเสื่อม เป็นต้น

นายแพทย์ประพันธ์  พงศ์คณิตานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ  กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบที่เกี่ยวข้องเสื่อมลง ฮอร์โมนที่ลดลง รวมถึงการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเชิงกราน การบีบรัดของกล้ามเนื้อหูรูดเสื่อมลง ตลอดจนผู้สูงอายุที่มี โรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน เบาจืด โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง โรคซึมเศร้า เป็นต้น   อย่างไรก็ตามถึงแม้ภาวะดังกล่าวจะสร้างความกังวลใจและปัญหาให้แก่ผู้สูงอายุ แต่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะทำงานเป็นปกติได้โดยบริหารกล้ามเนื้อหูรูดให้แข็งแรงโดยฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูดอย่างแรงเหมือนกำลังกลั้นปัสสาวะและขมิบ ครั้งละประมาณ 5 วินาที หยุดขมิบ 10 วินาที แล้วทำซ้ำ 10 ครั้ง ในตอนเช้า กลางวัน และเย็น ทุกวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวน  ฝึกควบคุมการขับถ่าย โดยยืดระยะเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานออกไป พยายามกลั้นปัสสาวะ ให้นานขึ้นอีกเล็กน้อยก่อนที่จะไปถ่ายปัสสาวะ ขณะที่เข้าห้องน้ำไม่ควรเบ่งปัสสาวะอย่างรุนแรงและควรปัสสาวะให้หมด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย ได้แก่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป  เพราะอาจทำให้สมองบวม ไตทำงานหนัก และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด ควรดื่มน้ำ 30 – 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว  1 กิโลกรัม เช่น หากมีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ควรดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตร ซึ่งการดื่มน้ำไม่ดื่มในปริมาณมากครั้งเดียวจนหมดหากผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติตัวได้ตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นจะทำให้มีสุขอนามัยที่ดี และเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องกังวลกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้อีกต่อไป