กรม สบส.เข้มมาตรฐานป้องกันการติดเชื้อ 4 มิติ ตั้งเป้าคลินิกทั่วไทยปลอดภัยไร้การติดเชื้อ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้มมาตรฐานป้องกันการติดเชื้อ 4 มิติ ยกระดับคุณภาพ มาตรฐานบริการทางการแพทย์ ตั้งเป้าให้คลินิกทุกแห่งปลอดภัย ทั้งผู้รับบริการ และบุคลากรด้านสุขภาพ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การติดเชื้อในสถานพยาบาล นับเป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขของทุกประเทศ และเป็นปัญหาที่ประสบกับสถานพยาบาลในทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลจนถึงคลินิก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้รับบริการ และบุคลากรด้านสุขภาพ รวมทั้งเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ดังนั้น เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านต่างๆ กรม สบส.มีความกังวลกับปัญหาที่เกิด จึงเดินหน้าคุมเข้มมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ 4 มิติในคลินิกทั่วประเทศ ทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ อุปกรณ์การแพทย์ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบคลินิกจะต้องปลอดภัยไร้การติดเชื้อ โดยปัจจุบันมีสถานพยาบาลประเภทคลินิกทั่วประเทศเกือบ 26,000 แห่ง ซึ่งกรม สบส.ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เป็นผู้ดูแลมาตรฐานของคลินิกในเขตกรุงเทพมหานคร และประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดูแลในส่วนภูมิภาค ตั้งเป้าคลินิกทั่วประเทศลดปัญหาจากการติดเชื้อ

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อ 4 มิติ ที่คลินิกทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย 1) มิติด้านผู้ให้บริการในการทำความสะอาดมือตั้งแต่ก่อน-หลังสัมผัสผู้ป่วย, การใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย อาทิ หมวก ผ้าปิดปาก-จมูก ถุงมือ รองเท้า, ความปลอดภัยของบุคลากรสุขภาพในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส หรืออุบัติเหตุจากของมีคม, การให้ความรู้แก่บุคลากรในด้านสุขวิทยาระบบทางเดินหายใจ และการกำหนดแนวทางการป้องกันและการรักษาการติดเชื้อของบุคลากร  มิให้เกิดการติดเชื้อจากการทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย 2) มิติด้านผู้รับบริการในการตรวจคัดกรอง, การทำความสะอาดมือ และการใช้ผ้าปิดปาก-จมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโรคที่ติดต่อได้จากการสัมผัส 3) มิติด้านอุปกรณ์การแพทย์ในการทำความสะอาด จัดเก็บอย่างเหมาะสม การทำลายเชื้อและการทำให้เครื่องมือแพทย์ปราศจากเชื้อ 4) ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมทั้งอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมต้องสะอาด เหมาะสม มีการจัดเตรียมภาชนะรองรับขยะมูลฝอยชนิดมีฝาปิดแบบใช้เท้าเหยียบสำหรับรองรับขยะมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยติดเชื้อ  มูลฝอยอันตราย มูลฝอยรีไซเคิล มีการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้ออย่างถูกวิธี โดยอาจใช้บริการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของภาครัฐ และบริษัทเอกชน หรือหากสถานพยาบาลใดมีเตาเผาก็สามารถดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยตนเองได้

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า สำหรับแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อสำหรับสถานพยาบาลประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) สามารถดาวน์โหลดคู่มือแนวทางปฏิบัติดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ สพรศ. (http://mrd-hss.moph.go.th/) และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สพรศ. กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18405