กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างยาและเครื่องสำอางจากคลินิกย่านบางกะปิ หลังสาวร้องมีสารต้องห้ามผสมในครีมที่นำมาให้บริการ ชี้หากพบผิดจริงมีโทษตามกฎหมายสถานพยาบาล ทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณี หญิงสาวรายหนึ่ง เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินคดีกับคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ หลังเข้ารับบริการคอร์สบำรุงใบหน้าและได้ครีมทาใบหน้ามาใช้ แต่เกิดอาการแพ้และมีสิวผดทั่วบริเวณใบหน้า ซึ่งเกิดจากสารต้องห้ามในการนำมาใช้กับผิวหน้า ที่ผสมอยู่ในครีมนั้น
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ตนได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว โดยพบว่าคลินิกดังกล่าวนั้น ได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และให้เกิดความกระจ่างชัดเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.จะทำการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทำการเก็บตัวอย่างยาและเครื่องสำอางของคลินิกฯ ไปตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป หากพบว่ายาและเครื่องสำอางที่คลินิกนำมาให้บริการก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในคลินิกหรือประชาชนผู้รับบริการ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้ง กรม สบส.จะมีคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการดำเนินการในขั้นต่อไปคือสั่งปิดคลินิกเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า การเสริมความงามทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยงเฉพาะตัว อย่างกรณีข้างต้นหากมีการนำยาและเครื่องสำอางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาให้บริการ ก็อาจทำให้เกิดการแพ้ และเกิดพิษต่อร่างกาย ยิ่งเป็นผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายก็อาจจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียโฉมได้ จึงอยากขอเน้นย้ำให้ทุกคนพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทุกครั้งก่อนรับบริการจะต้องตรวจสอบหลักฐานการขึ้นทะเบียนของสถานพยาบาล แพทย์ รวมทั้ง ตรวจสอบฉลากยาและเครื่องสำอางว่าได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับ อย. โดยสามารถตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน อาทิ ตรวจสอบชื่อสถานพยาบาลจากเว็บไซต์กรม สบส. (http://hss.moph.go.th) ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา (https://tmc.or.th) และตรวจสอบเลขทะเบียนยาและเครื่องสำอางจากเว็บไซต์ อย. (http://pca.fda.moph.go.th) ซึ่งสามารถรู้ผลได้ทันที ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) : ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข หรือ E-mail : crmhss.moph@gmail.com และหากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ตามวันและเวลาราชการ