สธ. จัดบริการเชิงรุกช่วยคนพิการ จ.ระยอง เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ

หมอตี๋นำทีมแพทย์กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ มอบแขน-ขาเทียม  และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จังหวัดระยอง เพื่อใช้ทดแทนในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ที่อาคารศูนย์กลางเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบลตะพง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง  ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีมอบแขน-ขาเทียม อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ประจำปี 2563 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2560 ประเทศไทยมีคนพิการ 3.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ5.5 ของประชากรทั้งหมด เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวสูงถึงร้อยละ 49.65  ในจำนวนนี้พิการแขนขาขาดกว่า 50,000 ราย เป็นคนพิการรายใหม่กว่า 3,500 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากโรคเรื้อรังอุบัติเหตุ และสูงวัย แขน-ขาเทียมจึงถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่งสำหรับคนพิการ เพื่อใช้ทดแทนในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศและความต้องการของประชาชน  การดำเนินงานต่างๆ ล้วนมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาคโดยส่วนหนึ่งของการดำเนินการบริการทางการแพทย์ในประชาชนกลุ่มคนพิการได้มอบหมายให้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จัดทำแผนแบบองค์รวมทั้งในด้านบริการและวิชาการเพื่อให้คนพิการแขนขาขาดทั้งรายเก่ารายใหม่ได้เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพเชิงรุก ซึ่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548  ถึงปัจจุบัน สามารถให้บริการคนพิการทางการเคลื่อนไหว  จำนวน 9,504 ราย

ทางด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับปี 2563 กรมการแพทย์  จัดทำโครงการมอบแขนขาเทียมให้คนพิการทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้คนพิการแขนขาขาดทั้งรายเก่าและรายใหม่ เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่วน จังหวัดระยอง  มีการดำเนินงานทั้งในด้านวิชาการและบริการ  ตั้งแต่การตรวจประเมินความพิการ การทำแขน-ขาเทียม การให้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ รวมถึงการเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบบูรณาการแก่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งในครั้งนี้มีการได้จัดอบรมเพิ่มพูนทักษะด้านการฝึกพูดสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือด ให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข จำนวน 150 คน และได้จัดบริการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการ เพื่อนำไปจดทะเบียนคนพิการ แก่คนพิการที่ยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตร 3 ราย โดยมอบแขนเทียม  20 ราย ขาเทียม  98  รายเบ้าอ่อนซิลิโคนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 23 ราย ซ่อมแขน-ขาเทียม 8 ราย และในรายคนพิการขาขาดที่ไม่สามารถใช้ขาเทียมได้  ได้มอบอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ  ได้แก่  อุปกรณ์เครื่องช่วยเดิน  30  ราย รถเข็น  1  คัน

#กรมการแพทย์ #กระทรวงสาธารณสุข #แขนขาเทียม #คนพิการ