กรมควบคุมโรค มุ่งเป้าจัดการสุขภาพผู้พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร ในปี 2563

กรมควบคุมโรค ผลักดันจัดการสุขภาพผู้พักอาศัยในพื้นที่เขตเมือง มุ่งเป้า 8 ล้านคน เริ่มต้นยกระดับการดูแลสุขภาพ ในหมู่บ้านจัดสรร 4 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน ที่ขาดการดูแลอย่างเป็นระบบ หวังผลลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ 5.9 พันล้านบาท

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุมปริ๊นบอลรูม 1 ชั้น 11 โรงแรมปริ้นพาเลซ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายและบูรณาการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคและภัยสุขภาพ และให้สัมภาษณ์ว่า ปี พ.ศ.2561 ประเทศไทย มีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง 37 ล้านคน หรือ ประมาณร้อยละ 50.05 ทำให้รูปแบบของที่พักอาศัยมีการเปลี่ยนแปลงไป หากเป็นเมืองขนาดใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นชุมชนแนวตั้งซึ่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เมืองเกิดขึ้นใหม่ในต่างจังหวัดจำนวนบ้านจัดสรรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 เท่าตัว การขึ้นของจำนวนบ้านจัดสรรอย่างรวดเร็วเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลสุขภาพ ผู้สูงอายุในบ้านจัดสรรมากถึงร้อยละ 60 ขาดการจัดการดูแลเชิงระบบ เสี่ยงต่อการเกิดโรค ภาวะฉุกเฉิน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร และ 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งหมดในแต่ละปี เกิดขึ้นในบ้าน เช่น ไฟไหม้ พลัดตกจากที่สูง และพบว่า 3 ใน 4 ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นในบ้านเช่นกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงระบบบริการปฐมภูมิ

เพื่อให้การเข้าถึงการป้องกันควบคุมโรค ลดความเหลื่อมล้ำการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ชุมชนการเคหะ ประมาณ 8 ล้านคน ที่ยากต่อการควบคุมโรค ไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องจัดการพื้นที่สุขภาพมุ่งเป้า ที่เรียกว่า HEZ (Health Enhancing Zone) เน้นให้เกิดการป้องกันควบคุมโรคที่ประชาชน มีส่วนร่วม และกำกับติดตามแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ภายใต้โปรแกรมการป้องกันควบคุมโรคระดับชาติ (NUDCP 2020) ผ่านโครงการยูวิลแคร์ (uVilleCare) เพื่อให้เกิดสุขภาพดีเริ่มที่บ้าน หรือ healthy home  มุ่งเป้าประชาชน 8 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3 ล้านคน ซึ่งการเชื่อมใช้เทคโนโลยีในการป้องกันควบคุมโรคความดันโลหิต เบาหวาน การบริหารจัดการเข้าถึงวัคซีน หรือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน สามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ทันเวลาผ่านการประสานความร่วมมือกับสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งโครงการยูวิลแคร์ (uVilleCare) นี้ จะลดค่าใช้ภาครัฐได้มากถึง 5.9 พันล้านบาท จากการลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต

นายแพทย์ปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้โครงการยูวิลแคร์ (uVilleCare) จะนำดิจิตัลเทคโนโลยี มาออกแบบให้มีระบบแจ้งเตือน ในบ้านของตนเองในขณะที่ออกไปทำงานนอกบ้าน และนำมาใช้จัดการป้องกันควบคุมโรคที่ลดขั้นตอน เช่น แจ้งเตือนสุขภาพผู้มีภาวะเสี่ยง และยังครอบคลุม โรคเรื้อรัง และการบริการวัคซีน รวมถึงภาวะฉุกเฉินให้เข้าถึงสถานบริการได้ทันเวลาผ่านความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งผลให้ลดการป่วย การตาย และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ ทั้งนี้ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต ทั่วประเทศ จะเป็นหน่วย วิเคราะห์ ส่งการแจ้งเตือนสถานะสุภาพ  และจัดแพ็คเกจดูแลสุขภาพได้ตรงความต้องการของประชาชนมากขึ้น หวังผลให้เกิดฐานข้อมูลสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร ครอบคลุมประชากร 8 ล้านคน ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อการบริการต่างๆในระบบบริการดูแลสุขภาพเขตเมือง (HEZ) แบบมีส่วนร่วมของหมู่บ้านท้องถิ่นและเอกชนที่เข้มแข็ง อันจะส่งผลให้ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ”ประชาชนมีสุขภาพดี โดยธันวาคมจะเริ่มดำเนินการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองทั่วประเทศ