กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าเตรียมความพร้อมฝ่ายไทยก่อนร่วมลงนามอาร์เซ็ปกับอีก 14 ประเทศสมาชิกปีหน้า พร้อมกางแผนประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากความ ตกลงให้เต็มที่ เชื่อยังคงเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้อินเดียยังไม่ตกลง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังจากผู้นำประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป : RCEP) 16 ประเทศ ร่วมกันออกแถลงการณ์ ประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็ป เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ว่า “สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ สามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ ซึ่งสมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป” ซึ่งหลังจากนี้ สมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 15 ประเทศ จะจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 บท โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลาเพียงพอในการดำเนินกระบวนการภายในของตนเองให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ทั้ง 15 ประเทศ สามารถลงนามร่วมกันได้ในปี 2563 ตามที่ผู้นำตั้งเป้าไว้ โดยในส่วนของไทยจะต้องดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
นางอรมน เสริมว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้กำหนดแผนการทำงานเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องความตกลงอาร์เซ็ป ดังนี้ (1) จัดประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ข้อมูลสำคัญที่ได้จากการเจรจา รวมทั้งมติของที่ประชุมผู้นำอาร์เซ็ป เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 และหารือการเตรียมการของฝ่ายไทย โดยมีนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับเจ้าหน้าที่เป็นประธานการประชุม (2) จัดสัมมนาใหญ่เรื่องอาร์เซ็ปในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ และลงพื้นที่จัดสัมมนาในต่างจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาค (เชียงใหม่ สงขลา อุดรธานี และชลบุรี) ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลความตกลงให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงการเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากความตกลงทุกมิติและการปรับตัวจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้อินเดียจะยังไม่เข้าร่วมปิดดีลความตกลงอาร์เซ็ปในขั้นนี้ แต่ความตกลงอาร์เซ็ป ที่มีสมาชิก 15 ประเทศ ยังคงเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 30 ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 28.96 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 27.22 ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิก อาร์เซ็ป 15 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 57.31 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกกว่า 1.41 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 55.79 ของการส่งออกรวมของไทย และมีมูลค่านำเข้าจากประเทศสมาชิกกว่า 1.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น ร้อยละ 58.74 ของการส่งออกของไทย ซึ่งอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างแต้มต่อ ลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกัน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและในโลก ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ
อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิต แอนนิเมชั่น นอกจากนี้ อาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำเอฟทีเอ ระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ปในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยจากเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น
*********************************************************