นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 46 (Committee on World Food Security: CFS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 18 ตุลาคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือในวาระสำคัญต่างๆ ทั้งสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของโลก ปี 2562 ตลอดจนการดำเนินงานด้านระบบนิเวศเกษตรและนวัตกรรมอื่นๆ ในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารและการเกษตรให้มีความยั่งยืน และการส่งเสริมบทบาทสตรีในชนบทกับความมั่งคงอาหารและโภชนาการ ซึ่งประธาน CFS (Mr. Mario ARVELO) ได้เน้นความสำคัญด้านสิทธิของคนในการได้รับอาหารอย่างเพียงพอ (The Right to Food) ด้วยการส่งเสริมให้ใช้ระบบการเกษตรแบบครอบครัว (Family Farming) ซึ่งเป็นระบบการทำการเกษตรที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการผลิตอาหารที่ยั่งยืน มีการจัดการสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังคงรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไว้ได้
โอกาสนี้ ผู้แทน สศก. ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของไทยที่น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาปรับใช้ อาทิ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ซึ่งไทยมีโครงการที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Center of Excellence on Soil Research in Asia: CESRA) เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอย่างยั่งยืน รักษาระบบนิเวศน์ และสร้างรายได้ ความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกรไทย
พร้อมนี้ ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลไทย มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความอดอยากหิวโหยและปรับปรุงภาวะโภชนาการมาโดยตลอด โดยมีการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการอาหารกลางวัน โครงการนมโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)
นายระพีภัทร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม CFS ได้มีมติรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทย ประจำ FAO/IFD/WFP กรุงโรม ดำรงตำแหน่งประธาน (Chairperson of CFS) ในสมัยต่อไป ต่อจาก Mr. Mario Arvelo (ผู้แทนจากประเทศโดมินิกันรีพับลิก) โดยมีวาระการทำงาน 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2562- 18 ตุลาคม 2564
ทั้งนี้ การประชุม CFS นับเป็นเวทีประชุมระหว่างประเทศและระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิก เพื่อหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ รวมถึงติดตามสถานการณ์ นโยบาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิก ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแบบสมัครใจ ซึ่งไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการกำหนดนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ โดยปัจจุบัน สมาชิกของ CFS ประกอบด้วยประเทศสมาชิกของ UN, FAO, IFAD และ WFP รวมถึงภาคประชาสังคม ซึ่งจะมีจัดประชุมเป็นประจำในเดือนตุลาคมของทุกปี
*******************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ