“ปลัดแรงงาน” โชว์วิสัยทัศน์ภาคีอาเซียน มุ่งขจัดความรุนแรงการทำงาน

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงานและคณะได้เข้าร่วมการประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 337 ณ อาคารสำนักงานใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในนามภาคีอาเซียน หัวข้อ “การติดตามผลข้อมติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน” ซึ่งภาคีอาเซียนขอให้ ILO ให้ความสำคัญกับสนับสนุนรัฐสมาชิกในการอนุวัติการตราสารดังกล่าวบนพื้นฐานของความแตกต่างในประเทศต่างๆ และย้ำให้ที่ประชุมทราบว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพได้ดำเนินการสิ้นสุดและประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งภาคีอาเซียนได้คำนึงถึงประเด็นการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานมาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ. 2559 ได้เห็นพ้องร่วมกันออกปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ ซึ่งมีหลักการในการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ

จากนั้น นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงานได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย หัวข้อ “รายงานระยะครึ่งรอบ (Mid-term report) การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก” ซึ่งได้แสดงจุดยืนของประเทศไทยที่ตระหนักเรื่องห่วงโซ่อุปทานของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ว่ามีผลกระทบต่อความเจริญทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ โดยได้รายงานถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยว่า รัฐบาลได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องประกาศใช้แผนปฎิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) และได้แบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมให้สถานประกอบการนำมาตรฐานแรงงานไทย (TLS) ไปปฎิบัติกับแรงงานด้วยความสมัครใจ รวมทั้งได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดทำแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างปฎิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งนำไปสู่งานที่มีคุณค่าในที่สุด นอกจากนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย กับ ILO องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และสหภาพยุโรป ซึ่งจะศึกษาเรื่องนี้ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และเกษตร นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ปลัดกระทรวงแรงงานยังได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มภาครัฐในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกด้วย

การเข้าร่วมการประชุมคณะประศาสน์การของปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศไทยในฐานะสมาชิกประจำของคณะประศาสน์การ และส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีระดับโลกในฐานะประธานอาเซียน และประเทศผู้มีบทบาทในคณะกรรมการบริหารขององค์การแรงงานระหว่างประเทศซึ่งมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการทำงานขององค์กร การผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ชาติ ตลอดจนสนับสนุนการเสริมสร้างภาพลักษณ์ไทยต่อประชาคมโลกด้วย

*****************************************************