พพ. เดินสายสร้างความเข้าใจมาตรการ BEC ออกแบบอาคาร–สถานประกอบการอนุรักษ์พลังงานในเวที “การออกแบบอาคารรับมือพลังงานยุคดิสรัปชั่น” สร้างความพร้อมนักออกแบบ เพิ่มทักษะ เข้าใจในกฎระเบียบ พัฒนาการก่อสร้างอาคาร ตามเกณฑ์มาตรฐานใหม่ หลังมีผลบังคับใช้ปีนี้ สำหรับอาคาร 10,000 ต.ร.ม. พร้อมหนุนงานวิจัยเทคโนโลยีก่อสร้าง และการใช้อุปกรณ์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน
นายโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังจัดสัมมนา “การออกแบบอาคารรับมือพลังงานยุคดิสรัปชั่น” ในงาน Smart Solutions Week 2019 เมื่อเร็วๆนี้ว่า ทิศทางของพลังงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้นวัตกรรมพลังงานที่เหมาะสม โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้หรือการผสมผสานเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งภายในปีหน้า 2563 จะประกาศใช้มาตรการด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ BEC (Building Energy Code) สำหรับอาคารที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร (ต.ร.ม.) ขึ้นไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและปฏิบัติตามแนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่จะนำไปสู่ การวิจัย พัฒนาด้านเทคโนโลยี และอุปกรณ์เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำการพัฒนาสมาร์ทเอเนอจี้ (Smart Energy) ของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระตุ้นการพัฒนาอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานไปยังกลุ่มอาคารขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2564 บังคับใช้กับอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และในปี 2565 บังคับใช้ กับอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งมาตรการบังคับใช้นี้ถือเป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินงานของ พพ. ที่จะดำเนินการควบคู่กับมาตรการจูงใจสนับสนุนทางการเงิน “การออกแบบอาคารรับมือพลังงานยุคดิสรัปชั่น” ถือเป็นความท้าทายของไทย เนื่องจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ประกอบกับกระแสของการแสวงหาพลังงานสะอาดของทั่วโลกเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานที่สามารถลดต้นทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาพลังงานของทุกภาคส่วนจึงมีความสำคัญที่ต้องมีการปรับตัวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่เป้าหมายเดียว คือ การอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ” นายโกมลกล่าว
ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจประเภทอาคารธุรกิจตลอดจนหน่วยงานภาครัฐได้ตื่นตัวในการออกแบบอาคารเพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโครงสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ การใช้พลังงานทดแทนเพื่อใช้ในอาคาร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคาร BEC นับเป็นความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของการดำเนินงานของ พพ. ทุกภาคส่วนสามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้ในหลายรูปแบบ เพื่อให้เป็นไปตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 หรือ (Energy Efficiency Plan; EEP 2015) ที่กำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ภายในปี 2579
***********************************************************