กรมการแพทย์เผย ภาวะครรภ์เป็นพิษ มีผลต่อมารดาและเด็กในครรภ์ เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต ควรฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ พบแพทย์สม่ำเสมอ หมั่นดูแลสุขภาพและสังเกตอาการต่างๆ เพื่อป้องกัน
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะมีอาการในช่วงอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยระดับของภาวะครรภ์เป็นพิษแบ่งเป็น 3 ระดับ 1.ระดับไม่รุนแรง มารดาจะมีความดันโลหิตขึ้นสูง มีอาการบวมปานกลาง และตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 2.ระดับรุนแรง มารดาจะมีอาการปวดศีรษะมาก ตามัว จุกเสียดแน่นบริเวณลิ้นปี่ เกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเม็ดเลือดแตก บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นมีภาวะน้ำท่วมปอดหรือมีเลือดออกในสมอง 3.ระดับรุนแรงเกิดอาการชัก เป็นระยะที่รุนแรงที่สุดและมักเกิดตามหลังครรภ์เป็นพิษรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์ ผู้ป่วยจะมีอาการชัก เกร็ง หรือหมดสติ อาจทำให้แม่และเด็กในครรภ์ได้รับความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ หลอดเลือดบริเวณรกมีความผิดปกติ กรรมพันธุ์ มีโรคประจำตัวเรื้อรังก่อนตั้งครรภ์ เป็นต้น
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษที่อยู่ในระดับรุนแรง ทำให้มีผลแทรกซ้อนต่อมารดาและเด็กในครรภ์ มารดาอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต สาเหตุมักเกิดจากมีเลือดออกในสมองหรืออวัยวะต่างๆ เกิดอาการชัก มีภาวะน้ำท่วมปอด อาจต้องยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันมารดาเสียชีวิต และสำหรับเด็กในครรภ์ อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้เช่นกัน หรือทารกเติบโตช้าผิดปกติ มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และที่พบบ่อยคือการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นในระหว่างตั้งครรภ์ควรหมั่นดูแลสุขภาพและสังเกตอาการต่างๆ ถ้ามีภาวะความดันโลหิตขึ้นสูงมากผิดปกติ ปวดศีรษะมาก ตามัว หรือมีสิ่งผิดปกติอื่นๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากการตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรก สามารถให้การดูแลรักษาอย่างปลอดภัยได้ ดังนั้นแนะนำว่าควรฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ งดทำงานหนัก พักผ่อนให้มาก หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ดื่มน้ำสะอาดให้มาก เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สำหรับภาวะครรภ์เป็นพิษจะมีอาการดีขึ้นหลังจากการคลอด แต่ยังมีโอกาสชักได้อยู่ในระยะ 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยในช่วงหลังคลอดมารดาอาจยังมีภาวะความดันโลหิตสูง แต่หากเกิน 12 สัปดาห์ไปแล้ว ยังคงมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ มารดาอาจจะเป็นภาวะความดันโลหิตสูงชนิดเรื้อรังได้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง
*******************************************