ตามที่กรมชลประทาน รับสนองนโยบายรัฐบาล ในการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง โดยการวางแผนจัดสรรน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนการซ่อมแซมอาคารชลประทานต่างๆ ในช่วงที่หยุดการส่งน้ำ โดยให้เกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ต่างๆ มีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานทุกขั้นตอนในฐานะผู้ใช้น้ำ และเจ้าของพื้นที่ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนให้มากที่สุด นั้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังจากได้รับรายงานจากสำนักงาน-ชลประทานที่ 10 ว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ได้ร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มบริหารจัดการใช้น้ำชลประทาน คลอง 2 ขวาพัฒนา ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน คลอง 3 ขวา ตำบลหนองพังนาค อำเภอเมืองชัยนาท เพื่อทำการประชุมคัดเลือกอาสาสมัครชลประทาน พร้อมร่วมวางแผนงานซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว ตามข้อเสนอของเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ภายใต้โครงการ “1 โครงการ 1 ล้าน” ประจำปีงบประมาณ 2563 อีกทั้งรับฟังประเด็นปัญหา อุปสรรค ความต้องการ และร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานทั้ง 2 แห่ง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้หันมาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง(ต่อเนื่อง) ปี 2562/63 หรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการใช้น้ำต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์
“น้ำคือชีวิต” สถานการณ์น้ำตอนนี้หลายคนมองว่าน่าเป็นห่วง แต่หากทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ให้ความร่วมมือช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำ เชื่อว่าน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะยังคงสามารถหล่อเลี้ยงสรรพสิ่งได้อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
*********************************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5 พฤศจิกายน 2562