วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมและร่วมแถลงข่าวเนื่องในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2562 ณ ลานไนน์สแควร์ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระรามเก้า กทม. เน้นนโยบายสุขภาพจิตไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมชูแนวคิด “ฟังกัน…วันละสิบ” เพื่อให้เกิดการรับฟังกันมากขึ้นในสังคมและลดการสูญเสียจากปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาตินี้ จะถูกจัดขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความเข้าใจด้านสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมว่า ภาครัฐได้ตระหนักถึงเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทยมาโดยตลอด และพยายามดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ คนไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งนั่นรวมถึงสุขภาพจิตของคนไทยด้วย แม้ว่าคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตในยุคนี้ จะสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และไม่ค่อยถูกทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การจะลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิตให้มากที่สุดนั้น ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยดำเนินงานอย่างครอบคลุม ให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีไปพร้อมๆ กัน คนที่กำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตควรได้รับความช่วยเหลือให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ในขณะที่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีความเปราะบางควรได้รับการสอดส่องดูแลและการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มทั่วไปและมีสุขภาพจิตดีอยู่แล้ว ก็มีความรู้และทักษะด้านสุขภาพจิตเพียงพอ ที่จะนำไปช่วยเหลือคนในกลุ่มอื่นๆ ต่อไป ถ้าหากเราทำได้เช่นนี้แล้ว สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีแต่การช่วยเหลือและแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง และไม่ต้องทิ้งใครให้ประสบปัญหาสุขภาพจิตอยู่เพียงลำพัง สมกับชื่องานกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตของปีนี้ ซึ่งคือ “สุขภาพจิตไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาตินี้จะถูกจัดขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 20 แห่ง ตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายนเพื่อสร้างความตระหนักถึงความเข้าใจด้านสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ การรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นในปีนี้ กรมสุขภาพจิตใช้ข้อความที่ว่า “ฟังกัน วันละสิบ” เพื่อสื่อถึงการให้คนไทยใช้เวลารับฟังกันเพิ่มขึ้นอีกวันละ 10 นาที หรือ รับฟังคนรอบตัวให้ได้ครบ 10 คนในหนึ่งวัน โดยเป็นผู้รับฟังที่ดีและสามารถสื่อสารว่า ฉันพร้อมรับฟังคุณ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถทำได้ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น ห่วงใยกันมากขึ้น และได้ระบายความทุกข์ใจก่อนที่จะสะสมจนกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา นอกจากนั้น กรมสุขภาพจิตคาดหวังว่า การที่แต่ละคนรับฟังกันเพิ่มอีกวันละ 10 นาที จะช่วยให้ครอบครัวสร้างเวลาที่มีคุณภาพร่วมกันได้ ซึ่งจะลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิตและส่งเสริมสถาบันครอบครัวของไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน