กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่มีสมรรถนะสูง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ โดยผู้ขับขี่ต้องมีทักษะในการบังคับทั้งความเร็วและความแรงของรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น พร้อมแนะ 7 วิธีปฏิบัติในการขับขี่ให้ปลอดภัย

วันที่ 30 ตุลาคม 2562 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุบัติเหตุจากการจราจรทางถนน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ จากรายงานของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์รถจักรยานยนต์ขนาด 250 ซีซีขึ้นไป (บิ๊กไบค์) มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยในปี 2561 มีรถจดทะเบียนใหม่ จำนวน 63,086 คัน เพิ่มจากปี 2560 ถึง 23% และพบว่ารถจักรยานยนต์ที่มีขนาด 250 ซีซีขึ้นไป มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเกือบ 2 เท่า (ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก) โดยในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 145 ราย และปี 2559 ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 285 ราย

อย่างไรก็ตาม การขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ซึ่งมีสมรรถนะสูง ผู้ขับขี่ต้องมีทักษะสูงตามไปด้วย และต้องผ่านการฝึกการขับขี่เฉพาะ เพื่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์ในการบังคับรถที่มีทั้งความเร็วและความแรง และเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ สำหรับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารสาธารณะ รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ขอให้ระมัดระวังอุบัติเหตุ เคารพกฎจราจร   เป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ผู้โดยสาร รวมถึงความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทางด้วย

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ด้วย 7 วิธีปฏิบัติในการขับขี่ให้ปลอดภัย ดังนี้ 1.เรียนรู้และฝึกทักษะในการขับขี่ ซึ่งทักษะการขับขี่ขั้นพื้นฐานเป็นประโยชน์อย่างมากในการขับขี่ เพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนขับบิ๊กไบค์ 2.ศึกษาอุปกรณ์ในการขับขี่ เพื่อช่วยในการปกป้องร่างกายหากเกิดอุบัติเหตุ 3.เตรียมรถให้พร้อม ตรวจเช็คสัญญาณไฟ รวมถึงสภาพยางรถ 4.ศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ในการขับขี่ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย 5.สังเกตและคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น อาจบีบแตรส่งสัญญาณเตือน หรือหยุดรถเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย 6.ไม่ควรขับแซงหรือเปลี่ยนช่องทางการจราจรอย่างกะทันหัน หากต้องการเปลี่ยนช่องการจราจร ให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร และ  7.หากทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง ไม่ดี ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย รอจนกว่าทัศนวิสัยจะดีขึ้น จึงค่อยขับรถต่อไป หากพบเห็นอุบัติเหตุควรรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

******************************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค