ก.แรงงาน ชวนวัดทักษะ รับค่าจ้างตามฝีมือ สปก. ยึดเป็นเกณฑ์คัดเลือกเข้าทำงาน ปี 63 ตั้งเป้าสองหมื่นกว่าคน
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบายด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนให้แรงงานมีขีดความสามารถและศักยภาพ ทักษะฝีมือเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย Workforce transformation ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเตรียมพัฒนากำลังแรงงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจ และสังคม กพร. จึงมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ เชิญชวนกำลังแรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการ และประชาชนทั่วไป เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อวัดทักษะฝีมือรับค่าจ้างตามฝีมือ ซึ่งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่นายจ้างและสถานประกอบกิจการใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกแรงงานเข้าทำงาน หรือปรับเลื่อนตำแหน่งงานต่างๆ อย่างเหมาะสม
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 83 สาขา อาทิ ช่างเชื่อมทิก ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 615 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 775 บาท ช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 385 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 469 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 605 บาท ช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี) ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 615 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 775 บาท และพนักงานนวดไทย ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 580 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 720 บาท ในปี 2562 มีผู้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จำนวน 35,731 คน สาขาที่มีผู้เข้ารับการทดสอบฯ มากที่สุด คือ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร รองลงมาเป็นพนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ (ประมวลผลคำ) ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างซ่อมรถยนต์ ผู้ประกอบอาหารไทย เป็นต้น สำหรับในปี 2563 ตั้งเป้ามีผู้เข้ารับการทดสอบจำนวน 24,320 คน
นอกจากนี้ กพร. ยังอนุญาตให้สถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ที่มีความพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากร เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้บริการแก่แรงงานทั่วประเทศที่สนใจเข้ารับการทดสอบฯ ปัจจุบันมีจำนวน 576 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 265 แห่ง ภาคเอกชนอีก 311 แห่ง
“การเข้ารับทดสอบฯ เป็นการท้าทายขีดความสามารถวัดศักยภาพของตนเอง พร้อมพิสูจน์ศักยภาพ ทักษะฝีมือ ให้นายจ้างและสถานประกอบกิจการได้รับรู้ สร้างความภาคภูมิใจรับค่าจ้างตามฝีมือ จึงเชิญชวนแรงงานเข้ารับการทดสอบ โทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0-2245-4837, 0-2245-1707 ต่อ 718 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ต่อ 4” อธิบดี กพร. กล่าว
…………………………………