“กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด” นับเป็นสถาบันเกษตรกรแห่งความภาคภูมิใจของชาวตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 2517 มีสมาชิกแรกตั้ง 67 คน ด้วยทุน 3,350 บาท ผ่านไป 45 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 1,857 คน ทุนเรือนหุ้น 47 ล้านบาท และทุนสำรอง 26 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดมีการดำเนินงาน ที่เข้มแข็ง เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างดี จากโครงการ “เปลี่ยนนาร้างเป็นนาข้าว” ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถพลิกฟื้นความเป็นอยู่ มีรายได้มั่นคง ขณะเดียวกันทางกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดก็มีการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างดี จนได้รับการยกย่องให้เป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง และได้รับรางวัลรางวัลระดับชาติถึง 5 ครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2526 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศ ปี พ.ศ. 2535 ได้รับรางวัลทำนาดีเด่นระดับชาติ และในปี พ.ศ. 2529, พ.ศ. 2548 และพ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานโล่ในพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีโอกาสได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด ที่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ประกาศตัวว่าจะไม่จำหน่ายวัตถุอันตรายและมีโครงการรณรงค์ ให้เกษตรกรลดละเลิกการใช้สารเคมีทุกชนิด พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวไว้กินเอง โดยเฉพาะข้าวพันธุ์สังข์หยด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดพัทลุง นอกจากนี้ยังสนับสนุนเกษตรกรหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้การปลูกพืช ด้วยตระหนักถึงปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดยังสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราคาผลผลิตการเกษตรได้เกือบ 100% ทั้งผลผลิตข้าว ผลไม้ ทุเรียน มังคุดและลองกอง ทางกลุ่มฯได้ส่งเสริมการผลิตอย่างครบวงจร เน้นเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพเป็นสำคัญ โดยเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการเปิดจุดรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทางกลุ่มฯมีทั้งโรงสีข้าว และโรงรมยางแผ่นรมควัน และยังได้จัดหาตลาดรองรับผลผลิตของสมาชิกในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมาก เพื่อบรรเทาปัญหาราคาตกต่ำ
นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดยังได้มีโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชแซมในสวนยาง อาทิเช่น ถั่วลิสง ถั่วหรั่ง มะละกอ เพื่อเสริมสร้างรายได้เพิ่มจากการกรีดยาง ซึ่งการปลูกถั่วหรั่งในอำภอตะโหมด ปลูกมานานหลายสิบปี แรกเริ่มปลูกพันธุ์พื้นเมือง แต่ให้ผลผลิตน้อยต่อมาในปี 2542 เกษตรอำเภอตะโหมดได้ริเริ่มให้เกษตรกรรวมตัวกันปลูกถั่วหรั่ง และจัดหาพันธุ์ถั่ว “สงขลา 1” ซึ่งพันธุ์ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพ มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแซมยางพารา เพราะเกษตรกรบางรายได้โค่นยางพาราที่อายุมาแล้ว เพื่อปลูกใหม่ กว่าเกษตรกรจะได้เปิดกรีดอีกครั้งต้องรอไปอีก 5-6 ปี ทำให้เกษตรกรขาดรายได้ กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดจึงส่งเสริมให้สมาชิกได้รวมกลุ่มกันปลูกถั่วหรังแซมในสวนยาง ระหว่างที่ยางยังไม่ได้เปิดกรีด ส่วนเกษตรกรบางรายที่เปิดกรีดยางแล้ว ก็สามารถปลูกถั่วหรั่งแซมในแปลงยางได้เช่นกัน ซึ่งถั่วหรั่ง (Bambara groundnut) เป็นพืชตระกูลถั่วที่พบปลูกมากในภาคใต้ เมล็ดถั่วหรั่งนำมาต้มหรือเผาไฟรับประทาน หรือใช้ทำอาหารคาว และขนมหวาน และแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง มีรสชาติคล้ายถั่วลิสง ปัจจุบันกลายเป็นถั่วเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งในทางภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกมากในแถบจังหวัดสงขลา พัทลุง ปัตตานี
สำหรับการปลูกถั่วหรั่งในอำเภอตะโหมด มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 800 ไร่ แบ่งเป็นตำบลตะโหมด 500 ไร่ ตำบลคลองใหญ่ 200 ไร่ ตำบลแม่ขรี 100 ไร่ ซึ่งสภาพดินบริเวณนี้มีความเหมาะสมในการปลูกถั่วหรั่งได้ดี การปลูกถั่วหรั่ง จะปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนที่กรีดยางไม่ได้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน และจะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม ซึ่งวิธีการเก็บเกี่ยวจะเก็บแบบขุดถอนทั้งต้น เมล็ดถั่วหรั่งจะฝังอยู่ในดินบริเวณรากของต้นถั่ว ผลผลิตโดยเฉลี่ยไร่ละ 450 – 600 กิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกถั่วหรั่งเฉลี่ยไร่ละ 10,000-15,000 บาท เกษตรกรบางรายสามารถสร้างรายได้จากการปลูกถั่วหรั่งประมาณ 50,000-150,000 บาท ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 – 4 เดือน ซึ่งในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ทางกลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมดเปิดจุดรวบรวมถั่วหรั่งจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานงานกับพ่อค้า เข้ามารับซื้อ และต่อรองราคาเพื่อให้เกษตรกรได้จำหน่ายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งการส่งเสริมปลูกถั่วหรั่งในสวนยางพารา นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ต้นถั่วหรั่งเมื่อปลูกแซมกับพืชอื่นจะเป็นพืชที่คลุมดินและช่วยบำรุงดินให้มีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ด้วย