นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่าณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – กันยายน 2562) สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 (กิจการฯ) รวมจำนวน 169,159 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเงินนำส่งรายได้แผ่นดินตามเอกสารงบประมาณที่ 168,000 ล้านบาท จำนวน 1,159 ล้านบาท
นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยภาพรวมในปี 2562 รัฐวิสาหกิจมีการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้แผ่นดินได้ตามเป้าหมาย โดยรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้นำส่งสูงสุด 10 อันดับแรก นำส่งรายได้แผ่นดินคิดเป็นร้อยละ 88 ของเงินนำส่งรายได้ทั้งหมด โดยสรุปได้ดังนี้
ลำดับที่ | รัฐวิสาหกิจ | รายได้นำส่ง (ล้านบาท) |
1 | สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล | 41,916 |
2 | บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) | 29,198 |
3 | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย | 18,924 |
4 | ธนาคารออมสิน | 16,538 |
5 | การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค | 10,903 |
6 | บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) | 10,500 |
7 | ธนาคารอาคารสงเคราะห์ | 5,646 |
8 | ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร | 5,582 |
9 | การไฟฟ้านครหลวง | 5,500 |
10 | การท่าเรือแห่งประเทศไทย | 4,760 |
11 | อื่นๆ | 19,692 |
รวม | 169,159 |
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า ในปีงบประมาณ 2563 สคร. มีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้นำส่งจากรัฐวิสาหกิจและกิจการฯ จำนวน 188,800 ล้านบาท โดย สคร. จะยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้แผ่นดินและสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น เพื่อให้การจัดเก็บรายได้แผ่นดิน เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
**********************************************