สถานการณ์น้ำในอ่างฯ – น้ำท่า ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ / พร้อมรับมือภาคใต้ หากเกิดฝนตกหนัก

พื้นที่ตอนบนใกล้สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว วอนทุกฝ่ายรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เหตุน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำบางแห่งอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ต้องวางแผนใช้น้ำอย่างรัดกุมในฤดูแล้งหน้า พร้อมเตรียมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ระดมเครื่องจักรเครื่องมือเตรียมพร้อม ย้ำทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนปีนี้ ในเดือน ตุลาคม 2562 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนลดลงและเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากในบางแห่ง นั้น

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(8 ต.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 50,869 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 26,940 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 25,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,140 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,444 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม.

อนึ่ง ในระยะนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝนที่มีแนวโน้มตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ อย่างใกล้ชิด อาทิ เขื่อนศรีนครินทร์ , เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี , เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก , เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี และเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยพื้นที่ตอนล่างของประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2562 มีจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมหรือน้ำล้นตลิ่ง 12 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมหรือน้ำล้นตลิ่ง 8 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง นราธิวาส สงขลา และพัทลุง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศ หลายแห่งมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ซึ่งกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน เก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ และแก้มลิงต่างๆ ให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ทุกแห่ง เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ สะพานเบลี่ย์ และรถบรรทุก รวมกว่า 700 หน่วย เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำได้ทันท่วงที รวมทั้งบูรณการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

…………………………………………………

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / 8 ตุลาคม 2562