กรมทรัพยากรน้ำร่่วมบูรณาการช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี

จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” และ “คาจิกิ” ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ในพื้นที่หลายจังหวัด สร้างความเสียหายทั้งอาคารบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายหลายหน่วยงานบูรณาการเร่งฟื้นฟู ทำความสะอาดพื้นที่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี กำลังคลี่คลาย คาดว่าภายในสัปดาห์นี้สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ภารกิจของพวกเราชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่จบเท่านี้ ตั้งแต่วันแรกที่น้ำท่วมภาคอีสาน เราดำเนินภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาตลอดทุกวัน นอกจากการมอบถุงยังชีพ อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นแล้ว เรายังปฏิบัติภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม เก็บและกำจัดขยะที่มากับ น้ำท่วมไปหลายสิบตันแล้ว จากนี้ไปหน้าที่ของพวกเราคือการดำเนินการฟื้นฟูธรรมชาติและทรัพยากรป่าไม้ ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อให้ป่าแข็งแรงพอที่จะคอยซับน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยเช่นนี้อีก

วันที่ 5 ตุลาคม 2562 รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายอธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ และคณะลงพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ร่วมกิจกรรม Kick off ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ฯ ติดตามการช่วยเหลือบริเวณจุดสูบน้ำของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจส่วนหน้า ชุมชนวัดบูรพา ข้างบ่อบำบัดน้ำเสีย เทศบาลนครอุบลราชธานี และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมรับฟังการรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานของหน่วยเมขลา (โดย ผอ.สทภ.11)

 

นายอธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานในสังกัดได้รวมสรรพกำลังทั้งอุปกรณ์เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ ร่วมกับหลายหน่วยงานเข้าช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำได้มีการเตรียมการ ติดตามและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ด้วยมาตรการ 2P2R ดังนี้

Prevention (การป้องกัน) มีการฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ ติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า Early Warning เพื่อวัดระดับน้ำฝน ในพื้นที่ลาดชันที่ลาดเชิงเขาที่ได้มีการติดตั้งแล้ว จำนวน 1,546 สถานี ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย 4,911 หมู่บ้าน และระบบโทรมาตรเพื่อวัดระดับน้ำท่าในพื้นที่ชุมชน Preparation (การเตรียมการ) จัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาอุทกภัย จัดทำแผนรับมือแก้ปัญหาอุทกภัย โดยศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ สำนักวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยาร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ดำเนินการวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและน้ำหลาก ซึ่งมีสถานีเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ Response (การเผชิญเหตุ) สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ เช่น เครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำ รถบรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่ายสำหรับการอุปโภค บริโภค ในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย รถและเรือสำหรับขนย้ายสิ่งของ/ช่วยเหลือผู้ประสบภัย น้ำดื่มสะอาด ถุงยังชีพ เป็นต้น
Recovery (การฟื้นฟู) สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฟื้นฟูบริเวณที่น้ำท่วม เช่น เครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำที่เน่าเสีย รถบรรทุกน้ำสำหรับทำความสะอาดพื้นที่ รวมทั้งเก็บและกำจัดขยะที่มากับน้ำท่วม

อีกทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากหลังน้ำลดอีกเรื่องคือปริมาณขยะที่มากับน้ำท่วม จำนวนมาก ทั้งขยะจากวัชพืช เศษไม้ สิ่งปลูกสร้าง ของใช้้ต่างๆและขยะอันตราย ตะกอนดินทรายที่น้ำพัดพามา มีความเสี่ยงอันตรายทั้งจากเชื้อโรคที่อยู่ในดินโคลนชื้นแฉะ และบริเวณพื้นที่ลุ่มที่ยังมีน้ำเน่าเสียท่วมขังอยู่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ขอฝากให้ทุกคนร่วมกันสร้างจิตสำนึกในเรื่องของการทิ้งขยะให้ถูกที่ ถูกวิธี เพราะขยะเป็นสาเหตุทำให้แม่น้ำ คู คลองเน่าเสีย

นายวิเวช สุทธิประภา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 11 กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงานฯ ซึ่งเราได้สนับสนุนทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือ เข้าช่วยเหลือตั้งแต่เกิดเหตุ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายในของเราได้แก่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 4 5 6 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและอีกหน่วยงาน ทุกวันนี้ก็ยังดำเนินการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ ทำความสะอาด สูบน้ำระบายน้ำเน่าเสีย เพื่อให้กลับสู่สภาพเดิมเร็วที่สุด