วันที่ 14 มิ.ย.61 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ในพื้นที่ป่าในเมือง สวนพฤกศาสตร์ สกุโณทยาน พร้อมทั้งนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) นายพจน์ ชินปัญชนะ หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยา ประชาชน เครือข่ายจิตอาสา นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน ณ สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน จังหวัดพิษณุโลก
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า โครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ในพื้นที่ป่าในเมือง สวนพฤกศาสตร์สกุโณทยาน ณ จังหวัดพิษณุโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน ประกอบกับเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ของหน่วยงานต่างๆกับภาคประชาชนในการร่วมกันทำความดีผ่านการร่วมกันปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ป่าในเมือง และยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในการร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ด้วย
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า วันนี้เป็นการดำเนินการโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ซึ่งในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา ขณะที่สวนพฤกศาสตร์สกุโณทยาน ตั้งอยู่ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ได้มีการเปิดตามโครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 61 เป็นลำดับที่ 10 ตามโครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ที่ดำเนินการร่วมกัน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติฯจะดำเนินการเปิดพื้นที่ป่าในเมือง 54 แห่ง เปิดไปแล้ว จำนวน 36 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิ.ย.61) ขณะที่โครงการ“สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” มีวัตถุประสงค์ที่นำพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเดิม มีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ความร่มรื่น และอยู่ใกล้เมืองหรือชุมชน เช่น พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ สถานีวิจัย มาปรับปรุง เพิ่มเติม ให้สวยงาม ทั้งการจัดภูมิทัศน์ให้สวยขึ้น จัดให้มีลานกิจกรรม ลานออกกำลังกาย ค่ายลูกเสือ เส้นทางวิ่งและปั่นจักรยาน ตลาดประชารัฐ ดนตรีในสวน รวมทั้งเพิ่มบทบาทหน้าที่ในงานบริการของเจ้าหน้าที่ ให้เข้าถึงประชาชนและพร้อมบริการประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ การรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่า และมีนโยบายให้พัฒนาป่าในเขตเมืองขึ้น โดยหวังให้ประชาชนภายในเขตเมืองได้มีสถานที่ออกกำลังกาย มีแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ ระบบนิเวศ เพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ช่วยลดมลภาวะและสร้างสภาพแวดล้อมภายในเมืองให้ดีขึ้น
สำหรับโครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน ในพื้นที่ป่าในเมือง ณ สวนพฤกศาสตร์สกุโณทยาน มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การปลูกต้นรวงผึ้งในสวนรวงผึ้ง ป่าในเมือง การเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เพาะชำกล้าไม้ เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเทียมไม้ เยี่ยมชมตลาดประชารัฐ เยี่ยมชมดนตรีในสวน การชมวีดีทัศน์โครงการป่าในเมืองสวนพฤกษศาตร์สกุโณทยาน และโครงการซ่อมแซมบ้านผู้พิทักษ์ป่าและการมอบบ้านสัญลักษณ์ให้แก่ผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งโครงการดังกล่าวก่อตั้งขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือ และสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้พิทักษ์ป่า จึงได้จัดให้มีโครงการซ่อมแซมบ้านให้กับผู้พิทักษ์ป่า ที่มีฐานะยากจน และปฎิบัติงานด้วยความตั้งใจ ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในสังกัด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) ที่ได้รับมอบการช่วยเหลือตามโครงการมีจำนวน 2 ราย คือ 1.นายวิชาญ ชาวบางมอญ อายุ 49 ปี ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า ปฎิบัติหน้าที่อยู่ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพนมทอง จ.พิษณุโลก มานานกว่า 20 ปี ซึ่งบ้านถูกพายุพัดพังเสียหาย ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้อีก 2.นายสยาม วังคีรี อายุ 38 ปี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ที่นน. 10 (ภูหินเหล็กไฟ) จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งบ้านของนายสยาม ก่อสร้างไม่ถูกสุขลักษณะ อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงได้มีการปรับปรุง ซ่อมแซมให้มีถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัย และน่าอยู่มากขึ้น