สวนกล้วยให้ระวังโรคใบจุดซิกาโตกาสีเหลือง

สวนกล้วยในช่วงที่มีฝนตกบางพื้นที่ระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรปลูกกล้วยให้สังเกตอาการของโรคใบจุดซิกาโตกาสีเหลือง มักพบอาการของโรคในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น เริ่มแรกพบจุดเล็กสีเหลือง ต่อมาแผลขีดสีเหลืองยาวขนานไปตามเส้นใบขยายใหญ่ ตรงกลางแผลแห้งเป็นสีน้ำตาลปนเทา แผลคล้ายรูปตา มีวงสีเหลืองล้อมรอบ หากอาการรุนแรง ใบจะเหลือง ขอบใบแห้งและฉีกขาด ทำให้กล้วยมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การออกดอกและผลไม่ปกติ ผลเล็กไม่สมบูรณ์ และผลแก่ก่อนกำหนด

สำหรับแนวทางในการป้องกันกำจัด ให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบใบกล้วยมีอาการของโรค ให้รีบตัดใบที่เป็นโรคนำออกไปทำลายนอกแปลงปลูก และตัดแต่งใบกล้วยในแต่ละต้นหรือแต่ละกอไม่ให้แน่นเกินไป เพื่อลดความชื้นในกอกล้วยที่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือสะสมโรค จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชโพรคลอราซ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วต้นที่เป็นโรค

นอกจากนี้ หากเกษตรกรต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และไม่นำหน่อพันธุ์จากต้นตอที่เป็นโรคไปปลูก ให้เลือกใช้หน่อกล้วยที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

……………………………………………

อังคณา  ว่องประสพสุข : ข่าว

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร

ตุลาคม 2562