วันที่ 4 ตุลาคม 2562 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานประชุมปิดศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล(ส่วนหน้า) จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านระบบ VDO Conference ไปยัง โครงการชลประทานที่ประสบปัญหาอุทกภัย ทั้ง 21 จังหวัด
ดร.ทองเปลวฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุโพดุล และพายุคาจิกิ ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2562 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้หลายพื้นที่ทางตอนบนและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีปริมาณน้ำมากจนเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำหลายจุด
กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการรับมือกับสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ทุกสำนักงานชลประทานกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานที่อยู่ในความดูแล พร้อมบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม และให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำหลักอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญได้เตรียมพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์ได้ทันที
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์บริหารอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) วันที่ 14 กันยายน 2562 เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้ตรงจุดและรวดเร็ว รวบรวมสถานกาณ์น้ำ คาดการณ์ระดับน้ำรายชั่วโมง รวมทั้งติดตามตรวจสอบ การติดตั้งเคลื่อนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ ในการช่วยเหลือให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงประเด็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการติดตามรายงานโครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแล เกษตรกรผู้ประสบภัย
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ระดับน้ำได้ลดต่ำลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,100 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.74 เมตร สถานการณ์โดยรวมพื้นที่น้ำท่วมขังส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว กรมชลประทาน จึงขอปิดศูนย์บริหารอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ยังคงดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด 8 กิจกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในพื้นที่ 21 จังหวัด โดยทำการสำรวจความเสียหาย เร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง ทำความสะอาดชุมชนและอาคารบ้านเรือนของประชาชน เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติให้เร็วที่สุด รวมทั้งการสำรวจซ่อมแซมเครื่องจักร เครื่องมือทางการเกษตร การตรวจสอบ ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานอาคารและระบบชลประทาน ให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
…………………………………….