อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในอำเภอท่าวังผาส่วนใหญ่ถนัดปลูกพริกและฟักทอง แต่วันนี้ได้รับโอกาสจากสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ เข้ามาสนับสนุนต่อยอดผลผลิตของเกษตรกร โดยการยกระดับไปสู่การแปรรูปพืชผักซึ่งเป็นผลผลิตภายในชุมชน ด้วยการนำมาอบแห้งและบดละเอียดเป็นผงบรรจุซองสุญญากาศจำหน่าย ซึ่งผักบางชนิดสามารถนำไปชงดื่ม และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อสะดวกต่อผู้บริโภค
นายพนมเทียน พินิจทะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า สหกรณ์ก่อตั้งเมื่อปี 2532 เดิมมีสมาชิกเพียง 100 คน ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,200 คน ธุรกิจหลักคือการรวบรวมผลผลิตการเกษตรจากชาวบ้านในพื้นที่ การแปรรูป และการให้สินเชื่อเพื่อการทำการเกษตร มูลค่าธุรกิจปัจจุบันประมาณ 30 ล้านบาท รายได้ของสหกรณ์ 80% มาจากการส่งเสริมอาชีพการผลิตพืชผัก และการบริการปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิก ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเคมีเกษตร ซึ่งสมาชิกกว่า 500 คน มีอาชีพในการปลูกผักขาย พืชหลักได้แก่พริกสด พริกซอส พริกแห้งปลอดสาร พริกป่นปลอดสาร ฟักทอง และฟักเขียว ฯลฯ โดยสหกรณ์จะมีการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตอิงกับราคาตลาดในพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่จะรับซื้อนำและไม่ต่ำกว่าตลาด
“มาตรการสำคัญของสหกรณ์คือ จะต้องหาตลาดก่อนที่จะมาวางแผนการผลิตกับสมาชิก เพื่อป้องกันผลผลิตล้นตลาด เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และอาชีพของสมาชิก โดยจะหารือเพื่อวางแผนล่วงหน้ากับเอกชนและตลาดจะที่รับซื้อว่า ปีนี้ต้องการผลผลิตชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ และกำหนดคุณภาพอย่างไร เช่น พริกแห้ง บริษัทจะแจ้งว่าปีนี้ต้องการจำนวนเท่าไหร่ และให้เมล็ดพันธุ์ที่เขาต้องการมาส่งเสริมชาวบ้านปลูก โดยจะประกันราคารับซื้อขั้นต่ำไว้ ซึ่งเมื่อเริ่มลงมือปลูก สหกรณ์จะมีส่วนร่วมในการคุมคุณภาพร่วมกับเกษตรกร เพราะสิ่งที่สหกรณ์ต้องการ คือส่งเสริมให้ปลูกแบบปลอดสารเคมีและแปลงผลิตต้องได้มาตรฐาน GAP เนื่องจากเป้าหมายหลักของสหกรณ์ คือการสร้างโรงงานแปรรูประบบ GMP ซึ่งต้องนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากเกษตรกรมาป้อนสู่โรงงาน โดยสหกรณ์มีการทำห้องเย็นสำหรับแช่เยือกแข็งเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าด้วย“
ปัจจุบันสหกรณ์ได้ทำเรื่องของบประมาณสนับสนุน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ภาคเกษตรและกลุ่มเกษตรกร งบประมาณปี 2562 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยของบประมาณสำหรับสร้างโรงเรือนระบบอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแปรรูปผลผลิตเพิ่มอีก 1 หลัง วงเงินประมาณ 1.1 ล้านบาท มูลค่าธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตของสหกรณ์ปีล่าสุดประมาณ 26.8 ล้านบาท ผลผลิต ส่วนมากเป็น พริก ฟักทอง ฟักเขียว มะเขือเทศ กระหล่ำปลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ที่ผ่านมา สหกรณ์ได้รับงบอุดหนุนห้องแช่แข็งผักและผลไม้ทั้งงบจังหวัดและเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) และมีออร์เดอร์จัดส่งพริกแห้งปลอดสารให้กับเอกชนที่เป็นคู่ค้า จนได้รับการยอมรับจากบริษัทไทยเวิลด์อิมพอร์ตเอ็กซปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกในฤดูกาลผลิตปี 2562 นอกจากนั้นในส่วนของพริกแห้งเกรด B ที่รองลงมา ได้ส่งเสริมให้สหกรณ์แปรรูปเป็นพริกป่นปลอดสารและบรรจุในซองสุญญากาศ ทำให้สหกรณ์ต้องมีการขยายพื้นที่ เพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อใช้สำหรับการแปรรูปพริกและผักของเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
“ ที่ท่าวังผาและพื้นที่ใกล้เคียง ชาวบ้านส่วนใหญ่ถนัดปลูกพริก สหกรณ์จึงรวบรวมพริกสำหรับส่งตลาดและจำหน่าย ซึ่งปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยเวิลด์อิมพอร์ตฯ สนใจและติดต่อให้ส่งพริกแห้ง สหกรณ์จึงได้สร้างโรงเรือนระบบอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับอบพริกแห้งเพื่อการส่งออก ซึ่งการทำพริกแห้ง จะใช้พริกสด 10 กิโลกรัม ตากและอบแห้งแล้วจะได้พริกแห้ง 5-6 กก. และพริกแห้ง 10 กก.จะได้พริกป่นประมาณ 9 กก. และนอกจากพริกแห้งแล้ว สหกรณ์ยังปลูกพริกซอส ส่งให้บริษัท อะกริฟู้ด ซึ่งมีความต้องการถึง 500 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันสหกรณ์ผลิตได้เพียง 250 ตันเท่านั้น และอีกธุรกิจสหกรณ์ทำขณะนี้คือการผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ของลูกค้าด้วย ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้ มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หรือห้อง Lab ของตนเอง เพื่อตรวจสอบหาสารตกค้างในพืชผักของเกษตรกร ทำให้ที่ผ่านมาการส่งผลผลิตขายให้กับคู่ค่าจะไม่มีสินค้าของสหกรณ์ถูกตีกลับ และขณะนี้ทางสหกรณ์ได้พัฒนาการผลิตพืชผักเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยแปรรูปทั้งพริกแห้ง พริกป่น และแป้งฟักทอง หรือ Pumpkin Powder เป็นผงฟักทองสำหรับชงดื่ม เพื่อบำรุงสุขภาพ โดยได้ศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษา ทำวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปฟักทองพันธุ์ญี่ปุ่นมาเป็นฟักทองแบบผงที่ยังคงคุณค่าของสารอาหาร เนื่องในพื้นที่เกษตรกรยังปลูกฟักทองกันมาก ซึ่งฟักทองที่อำเภอท่าวังผา มีรสชาตดีและสีสวย สหกรณ์จึงคิดทำเป็นผงชงพร้อมดื่ม เพื่อลองทดสอบตลาด ก่อนจะขยายไปยังผลผลิตพืชตัวอื่นในอนาคต “
จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้สหกรณ์ต้องหาแปลงผักจากเกษตรกรมาสมทบ เพื่อส่งผลผลิตป้อนให้สหกรณ์ได้ตามความต้องการของคู่ค้า โดยในช่วงฤดูแล้งที่ผลผลิตของพริกจะไม่พอต่อความต้องการของตลาด มีการแย่งซื้อจากพ่อค้าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ สหกรณ์จึงต้องหาแปลงผักของเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียงมาช่วย ซึ่งสหกรณ์จะมีการสุ่มตรวจแปลงเป็นระยะและต่อเนื่อง และเมื่อแปรรูปแล้ว ก็จะมีการสุ่มตรวจผลผลิตที่แปรรูป อีกครั้งก่อนส่งขาย เพื่อให้ได้คุณภาพผลผลิตตามที่ตลาดต้องการและไม่มีสารตกค้าง
ผลของการดำเนินธุรกิจที่ใช้ตลาดนำการผลิต คือหาช่องทางตลาดไว้ล่วงหน้าก่อน จะไปวางแผนส่งเสริมการปลูกพืชผักให้กับสมาชิก ทำให้ยอดเงินกู้ของสมาชิกสหกรณ์มีจำนวนเพียง 36-37 % ของธุรกิจสหกรณ์ทั้งหมด สมาชิกที่กู้เงินสหกรณ์มีประมาณ 400 คน รวมเงินกู้ประมาณ 10 ล้านบาท บางฤดูกาลอาจะมีปัญหาเรื่องการ ส่งชำระหนี้บ้าง แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากในการปล่อยกู้จะไม่ปล่อยกู้เป็นเงินสด แต่จะให้เป็นปัจจัย การผลิต เมื่อผลผลิตออกมา สมาชิกก็จะนำมาขายให้สหกรณ์ จึงจะมีการหักเงินส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ ทำให้สมาชิกไม่มีหนี้สินพอกพูน เนื่องจากสหกรณ์ส่งเสริมอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ และเหลือพอส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์
นอกจากการแปรรูปแล้ว สหกรณ์แห่งนี้ยังมีการจ้างงานแรงงานในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะกระบวนการทำพริกแห้งที่เริ่มตั้งแต่การล้างทำความสะอาด และการเด็ดขั้วพริกสำหรับทำพริกแห้ง สหกรณ์จะจ้างผู้สูงอายุในพื้นที่ เพื่อให้มีรายได้ ให้อัตราค่าจ้างกิโลกรัมละ 4 บาท ทำให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนมากไม่มีงานทำ ต้องอยู่เฝ้าบ้าน ได้มีโอกาสมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด จังหวัดน่าน นับว่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้และดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ให้มีความกินดีอยู่ดี จึงเป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ตัวอย่างที่ได้ทำหน้าที่ในการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สมกับความหมายคำว่า “สหกรณ์”
////