กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านให้ระวังปัญหาการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ ซึ่งทำความเสียหายกับผลผลิตในหลายพื้นที่ หากไม่รีบป้องกันอาจแพร่ขยายไปยังพื้นที่ปลูกแหล่งอื่นได้
นายทวีพงศ์ สุวรรณโร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ปลูกมะเขือเทศในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องประสบกับปัญหาการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ ทำความเสียหายกับผลผลิตมะเขือเทศในหลายพื้นที่ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศขยายวงกว้างและส่งผลกระทบต่อผลผลิตมะเขือเทศ จึงได้แจ้งให้สำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนผีเสื้อชนิดดังกล่าวในมะเขือเทศและพืชอาศัยชนิดอื่น ๆ เช่น มะเขือ มันฝรั่ง พริก ยาสูบ พืชวงศ์ถั่ว และกะหล่ำ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้ทันกับสถานการณ์การระบาดของหนอนผีเสื้อชนิดนี้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเฝ้าระวัง และหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยให้เผยแพร่คำแนะนำและแนวทางการป้องกันกำจัดหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
ลักษณะอาการและการทำลาย พบว่า เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญสร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะพืชวงศ์มะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก ยาสูบ รวมทั้งพืชวงศ์ถั่ว และกะหล่ำ โดยการกัดกินชอนไชใบ ลำต้นและผล ทำให้ผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 90 จากสถานการณ์การระบาดอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในหลายประเทศในทวีปเอเชีย ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่กระจายและลดการเข้าทำลายพืชเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดทางวิชาการ มีดังนี้
- โรงเรือนผลิตกล้ามะเขือเทศ ใช้วัสดุปลูกที่ปราศจากดักแด้ของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสำรวจร่องรอยการทำลายบนใบ ผล ดอก และยอดมะเขือเทศ หรือดักจับผีเสื้อโดยใช้กับดักฟีโรโมน อัตรา 4 กับดักต่อไร่ เมื่อพบผีเสื้อ 3 – 4 ตัวต่อกับดักต่อสัปดาห์ ให้ติดตั้งกับฟีโรโมนเพื่อดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้ อัตรา 8 กับดักต่อไร่ เพื่อลดประชากรผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศในแปลง หากตรวจพบผีเสื้อหรือการทำลายของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ ให้ป้องกันกำจัดโดยการใช้สารกำจัดแมลงตามคำแนะนำ คือ สารสไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารลูเฟนนูรอน 5%EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารอินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17%EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร รวมทั้งทำความสะอาดโรงเรือน โดยเก็บเศษซากพืชที่ถูกหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือทำลายโดยการเผาหรือฝังในดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
- ในแปลงปลูกมะเขือเทศ ให้สำรวจประชากรของผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศด้วยกับดักฟีโรโมน อัตรา 4 กับดักต่อไร่ ก่อนปลูก 2 สัปดาห์ และก่อนปลูกให้ไถพลิกตากดินหรือไถพรวนเพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน และใช้ต้นกล้าที่ปราศจากหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ หลังปลูกหากพบผีเสื้อหรือการทำลายให้ติดกับดักฟีโรโมน อัตรา 10 กับดักต่อไร่ เพื่อดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้ และพ่นสารกำจัดแมลงชนิดเดียวกับที่แนะนำให้ใช้ในโรงเรือนพ่นทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง โดยใช้กลุ่มสารสลับกันอย่างน้อย 2 กลุ่ม ใน 1 รอบวงจรชีวิต (30 วัน) และเว้นระยะไม่ใช้สารกลุ่มเดิมในรอบวงจรชีวิตถัดไป ในช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตถ้าพบการระบาดให้พ่นสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สายพันธุ์เคอร์สตากี้ อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทำความสะอาดแปลงปลูก และปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชอาศัยเป็นพืชหมุนเวียน รวมทั้งกำจัดวัชพืชรอบแปลงปลูกซึ่งอาจเป็นแหล่งอาศัยของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ
- จุดรวบรวมผลผลิตและตลาด ให้สำรวจประชากรของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศด้วยกับดักฟีโรโมน อัตรา 4 กับดักต่อไร่ และเก็บผลผลิตที่มีรอยทำลายของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่นและนำไปตากแดดทิ้งไว้ 3-4 วัน จนแน่ใจว่าหนอนที่ติดมากับผลมะเขือเทศตายอยู่ภายในถุง
*******************************
อัจฉรา : ข่าว, กันยายน 2562
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล