กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยล่าสุดอียูออกมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือ เบร็กซิทเพิ่มเติม อาทิ การออกมาตรการให้การขนส่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง การขยายเวลาการอนุญาตทำประมงในน่านน้ำของอีกฝ่ายหนึ่งจนถึงสิ้นปี 2563 พร้อมกำหนดให้ สหราชอาณาจักรจ่ายงบประมาณสนับสนุนอียูต่อไปจนถึงสิ้นปี 2563 ชี้ ยา เครื่องมือแพทย์ และเคมีภัณฑ์ อาจเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อกรณีเบร็กซิท ย้ำผู้ประกอบการติดตามข้อมูลใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมเพื่อรับมือกรณีสหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมใน 3 ด้านหลัก คือ (1) การขนส่ง ได้ออกมาตรการเพื่อให้การขนส่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งทางอากาศ รถไฟ และทางบก สำหรับผู้โดยสารและสินค้าสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ขยายเวลาการอนุญาตการขนสินค้าและผู้โดยสารผ่านแดนทางถนนที่ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์ ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และขยายเวลาการอนุญาตการขนส่งทางอากาศระหว่างกันจนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2563 (2) การประมง ได้ขยายเวลาการอนุญาตทำประมงในน่านน้ำของอีกฝ่ายหนึ่งจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อให้การทำประมงโดยเรือของอียูและสหราชอาณาจักรดำเนินการต่อเนื่องได้ และ (3) งบประมาณปี 2563 สหราชอาณาจักรจะยังคงมีส่วนร่วมและต้องจ่ายงบประมาณสนับสนุนอียู และยังคงสามารถเข้าร่วมใช้ประโยชน์ในโครงการต่างๆ ของอียูได้ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2563
นอกจากนี้ ในระดับประเทศสมาชิกอียูเองก็มีมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีเบร็กซิทแบบไม่มีข้อตกลง เช่น เยอรมนีเพิ่มเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ สนามบินและท่าเรือ 900 คน สเปน 860 คน ฝรั่งเศส 700 คน เบลเยียม 368 คน และเนเธอร์แลนด์ 100 คน สะท้อนให้เห็นว่าการตรวจปล่อยสินค้าผ่านแดนกับสหราชอาณาจักรน่าจะต้องเข้มงวดขึ้น เป็นต้น
นางอรมน เสริมว่า อียูยังได้เตือนทุกภาคส่วนให้เตรียมความพร้อมสำหรับการถอนตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อาจอ่อนไหวกับการถอนตัว เช่น ยา เครื่องมือแพทย์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น เนื่องจากกระบวนการและกฎระเบียบด้านศุลกากรและการตรวจสอบด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างอียูและสหราชอาณาจักรจะมีความเข้มงวดขึ้น และคาดว่าจะมีกฎระเบียบใหม่ออกมาบังคับใช้กับการข้ามแดนระหว่าง สหราชอาณาจักรกับอียู ในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปก็เตรียมจะขยายเวลาการปฏิบัติงานของศูนย์บริการข้อมูลเพื่อให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่ต้องการคำแนะนำหรือการอำนวยความสะดวกในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ ในส่วนไทยขอให้ผู้ประกอบการไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเบร็กซิทติดตามข้อมูลการเตรียมความพร้อมของอียูอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทันสถานการณ์
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม–กรกฎาคม) การค้ารวมระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่ารวม 25,818 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียู 14,087 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียู 11,731 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไก่แปรรูป เป็นต้น สำหรับไทยและสหราชอาณาจักรมีมูลค่าการค้ารวม 3,829 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักร 2,359 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก สหราชอาณาจักร 1,470 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกล พลาสติก เป็นต้น
——————————-
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
27 กันยายน 2562