“กรมเจ้าท่า”สร้างบทบาทเพศหญิงวงการเดินเรือไทย รับแผนIMO คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในวันทางทะเลโลกปี 62

“กรมเจ้าท่า” เปิดงานวันทางทะเลโลกปี 62  ดึงสตรี มีบทบาทในวงการเดินเรือไทย ทัดเทียมตลาดเดินเรือสากล  ตามแนวทาง องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ  หรือ IMO เปิดกว้างขยายอาชีพในภาคการขนส่งทางน้ำสู่เพศหญิงทุกระดับปฏิบัติการ ทั้งเจ้าของกิจการ เจ้าหน้าที่บังคับการบนเรือพาณิชย์ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเดินเรือของไทยและทั่วโลก พร้อมรับนโยบายรัฐในการป้องกันการทิ้งขยะจากเรือตามข้อกำหนดขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ(IMO)

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานกิจกรรมวันทางทะเลโลกประจำปี 2562 ว่าในปีนี้ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมบทบาทสตรีให้เข้ามามีส่วนร่วมในภาคการขนส่งทางน้ำหรือ “Empowering Women in the Maritime Community”   เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO)  ซึ่งเป็นทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

ได้กำหนดให้สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนของทุกปีเป็นวันทางทะเลโลก หรือ World Maritime Day  กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้จัดกิจกรรมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมการเดินเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยการส่งเสริมให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการทำงานในสาขาอาชีพดังกล่าวของไทยมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเล  ที่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมินของ IMO ในปี 2564ที่สมาชิกทุกประเทศ ต้องปฏิบัติในด้านการเสริมสร้างความปลอดภัยทางทะเลและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้บรรลุตามเป้าหมาย

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมฯได้จัดกิจกรรมวันทางทะเลโลกต่อเนื่องทุกปี และปีนี้ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทสตรีให้เข้ามามีส่วนร่วมในภาคขนส่งทางน้ำตามข้อตกลงของ IMO   ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในสมาชิก โดยกรมฯ ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงในอาชีพการขนส่งทางน้ำมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาสายอาชีพดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนมีแต่ผู้ชายที่เข้ามาประกอบอาชีพ

“บทบาทของผู้หญิงในวงการเดินเรือเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในระดับสากล เพราะถือว่าเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งไทยเองในฐานะที่เป็นสมาชิก IMO  พร้อมที่จะเปิดกว้างให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เห็นได้จากขณะนี้ กิจการเดินเรือโดยสารหลายราย มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูง  และยังเป็นเจ้าของกิจการ   และยังพบว่า มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกัปตันเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ  ชี้ให้เห็นว่าความสามารถของผู้หญิงไทยสามารถปฏิบัติการ และบริหารงานในกิจการเดินเรือได้อย่างมีคุณภาพ และมาตรฐานเช่นเดียวกัน”นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้การขนส่งทางทะเลและทางเรือ มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากการใช้บริการขนส่งทางน้ำ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็น 90% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ถือระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และต้นทุนต่ำ ทำให้การขยายกองเรือระหว่างประเทศ มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเช่นกัน  ขณะเดียวกันกรมฯต้องดำเนินการดูแลในเรื่องของความปลอดภัย และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการเดินเรือ โดยการเข้าไปตรวจสอบการบริหารจัดการขยะบนเรือ และแนวทางการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีในการทำความสะอาดเรือ เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่บรรจุไว้ในแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564  ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20  ปี