สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 เม.ย. 68 เวลา 7.00 น.

1. วันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมา ปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ ทำให้มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 30 เม.ย.- 1 พ.ค. 68 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้จะยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (46,031 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (21,821 ล้าน ลบ.ม.)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 14 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคองลำนางรอง และสิรินธร
ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ และกระเสียว
ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล คลองสียัด และนฤบดินทรจินดา

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 97 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 56 แห่ง
ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง

สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ

3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำในช่วงวันที่ 28 เม.ย. – 3 พ.ค. 68 ดังนี้
1. จากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและอาจไหลเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)
2. เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม

4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (28 เม.ย. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่หนองหารและการบริหารจัดการน้ำ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่ ณ สวนสาธารณะดอนเกิน อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ จ.สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร สำหรับบึงหนองหาร จ.สกลนคร เป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญในด้านการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ การอุปโภคบริโภค การเกษตร และเป็นพื้นที่ชะลอน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ สทนช. ร่วมกับ จ.สกลนคร เสนอแผนหลักการพัฒนาหนองหาร ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (ปี พ.ศ. 2563 – 2572) โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี รวมทั้งสิ้น 62 แผนงาน/โครงการ ประกอบด้วย
ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 7 แผนงาน/โครงการ
ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร จำนวน 2 แผนงาน/โครงการ
ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จำนวน 15 แผนงาน/โครงการ
ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จำนวน 23 แผนงาน/โครงการ
ด้านที่ 5 การบริหารจัดการ จำนวน 15 แผนงาน/โครงการ