วันที่ 21 เมษายน 2568 เวลา 07.00 น. พระธรรมมงคลวชิโรภาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป งาน “ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” พร้อมด้วยนางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จากนั้นเวลา 09.20 น. มีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ศาลหลักเมือง เนื่องในกิจกรรม “ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยมีพิธีการสักการะพระพุทธรูป ณ หอพระพุทธรูป ใส่บาตรพระประจำวันเกิด ถวายธูปเทียน กล่าวคำอธิษฐาน ปิดทอง และผูกผ้าแพรทั้ง 3 ผืน ณ องค์หลักเมืองจำลอง และถวายพวงมาลัย ณ ศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ณ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดงาน“ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 23-27 เม.ย. 2568 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และวัดประยุรวงศาวาส เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 243 ปี และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของไทย เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2325 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 243 ปี และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อสร้างประเทศชาติให้มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน
“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” เป็นวัดที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม ในปีพุทธศักราช 2311 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี โดยกำหนดเขตทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้แม่น้ำผ่านกลางพระนคร วัดโพธารามตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนครฝั่งตะวันออก จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และมีพระราชาคณะปกครองตลอดสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธารามขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นอื่นๆ และสร้างถาวรวัตถุ แล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐานบริเวณพระอุโบสถ พระวิหารทิศ และพระระเบียง ฯลฯ และพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ปีพุทธศักราช 2375 – 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ สิ่งใดชำรุดทรุดโทรมมากก็รื้อสร้างใหม่ขยายรูปทรงบ้าง สร้างเพิ่มขึ้นใหม่บ้าง ส่วนกุฏิสร้างใหม่เป็นตึก และโปรดให้จารึกสรรพตำราต่างๆ 8 หมวด ลงแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามศาลารายเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งงานปีนี้จัดกิจกรรมใน 3 พื้นที่ประกอบด้วย 1.อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ได้แก่ นิทรรศการ Immersive Art “แสงแห่งพระบารมี” (Light of Royal Wisdom) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมทางวิชาการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการแสดงดนตรี อาทิ ละครนอก วงดนตรีสากล โดยกรมศิลปากร การแสดงของสมาคมศิลปินพื้นบ้าน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โขน โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียง การสาธิตมรดกวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม อาหารและขนมไทย กิจกรรมเวิร์กช็อปไทยร่วมสมัย ตลาดอาหารไทย อาหารถิ่น ตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม และตลาดนัดศิลปิน 2.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้แก่ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในยามค่ำคืน (Night Museum) ฉายหนังกลางแปลง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอาหาร และ 3.วัดประยุรวงศาวาสฯ
จัดงาน “เที่ยวงานวัด ย้อนวันวาน ยลวิถีย่านกะดีจีน-คลองสาน” ภายในงานมีกิจกรรม เช่น เช่น ไหว้พระรับพร เสริมสิริมงคล การแสดงศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ปั่นจักรยานเที่ยววัดยามค่ำคืน” การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง ธรรมะสู่คนทั้งมวล การประกวดอาหารสามศาสน์ การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของดีย่านกะดีจีน การเเสดงผลิตภัณฑ์ 5 ศาสนา ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดสายด่วนวัฒนธรรม 1765 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊กสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม