รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวแก้ไขปัญหา “หมอลาออก” ชี้ร่าง พ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข เป็นทางออกในระยะยาว ช่วยกำหนดบรรจุตำแหน่ง เงินดือน ค่าตอบแทนและสวัสดิการได้เอง อยู่ระหว่างเสนอ ครม. ส่วนระยะสั้นมี 7 แนวทาง ทั้งประกาศพื้นที่พิเศษ ลดเวลาใช้ทุนจาก 3 ปี เหลือ 2 ปีไปเรียนต่อได้ เปิดทางบรรจุแพทย์ที่จบจาก ม.เอกชนหรือต่างประเทศ เป็นข้าราชการ เพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาสูงสุดไม่เกิน 3 เท่า
วันที่ 18 เมษายน 2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธาณสุข พร้อมแถลงข่าวประเด็นการแก้ไขปัญหา “แพทย์ลาออก” และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ ว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.ก.สธ. ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถบรรจุแต่งตั้ง กำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของบุคลากรทั้งหมดได้เอง แต่ต้องใช้เวลานานประมาณ 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นจึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น 7 แนวทาง ดังนี้ 1) กำหนดให้พื้นที่ที่มีปัญหาแพทย์ลาออกหรือขาดแคลนเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดระยะเวลาชดใช้ทุนก่อนไปศึกษาต่อจากเดิม 3 ปี เหลือ 2 ปี โดยไม่นับเป็นการลา โดยมีคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาและการลาศึกษาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ที่มี นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณา ซึ่งที่จะมีการพิจารณาเร็วๆ นี้ คือ บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และตาก
2) เพิ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั้งแบบฝึกเองและฝึกร่วม เพื่อให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรตามที่กำหนด 3) ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากพื้นที่ใกล้เคียง 4) เสริมระบบบริการด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพและเทเลเมดิซีน รวมถึงปรับแนวทางให้แพทย์เกษียณอายุราชการสามารถทำงานต่อได้ 5) กำหนดตำแหน่งข้าราชการรองรับแพทย์ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างประเทศ กรณีไม่มีแพทย์ในระบบปกติไปบรรจุ ซึ่งขณะนี้ อกพ.สธ.ได้เห็นชอบแล้ว 6) พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ซึ่งกำหนดสูงสุดไม่เกิน 3 เท่า และ 7) ดูแลด้านสวัสดิการ เช่น บ้านพัก การเดินทาง เป็นต้น
ด้าน นพ.ภูวเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจะใช้แนวทางดังกล่าวในพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่พิเศษ โดยในส่วนของค่าตอบแทนนอกเวลา กรณีเพิ่ม 1-2 เท่า มีคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นประธานในการพิจารณา และกรณีมากกว่า 2 เท่าไม่เกิน 3 เท่า จะมีคณะกรรมการระดับเขตพิจารณา โดยนำเรื่องการขาดแคลนแพทย์และภาระงานมาเป็นเกณฑ์ด้วย ส่วนการบรรจุแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชนและต่างประเทศเป็นข้าราชการ จะไม่เป็นภาระงบประมาณของโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกรอบอัตราข้าราชการที่ ก.พ.อนุมัติและกรมบัญชีกลางกำหนดงบประมาณเป็นเงินเดือนอยู่แล้ว