ก.แรงงาน ร่วมประชุมหารือ ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ อย่างยั่งยืน ตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวิชัย ผิวสอาด หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “พัฒนาทักษะแรงงานนานาชาติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ กระทรวงแรงงาน หัวหน้าและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานจากราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย จำนวน 80 คน เข้าร่วม หารือเกี่ยวกับทิศทาง นโยบาย การวางแผน การแก้ไขปัญหาและโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงานนานาชาติ
โดยนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการ และด้านเทคนิค เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ให้หันมาลงทุนในประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัจจัยหลายประการที่แตกต่างกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพภูมิประเทศ การคมนาคม จึงเป็นที่มาของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักในการพัฒนาทักษะแรงงานของประเทศสมาชิก โดยน้อมนำแนวคิดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับแนวคิด Workforce transformation ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเตรียมความพร้อมกำลังแรงงาน รับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปรับปรุงและพัฒนาด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21
ด้านนายวิชัย ผิวสอาด กล่าวว่า กพร.ได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ พัฒนาทักษะกำลังแรงงานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Economic Corridors) ทั้ง 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ พัฒนากำลังแรงงาน ให้มีขีดความสามารถและศักยภาพเพิ่มขึ้น ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยคาดหวังว่า บุคลากรแต่ละประเทศที่ผ่านการอบรม จะนำความรู้ที่ได้ไปขยายผล ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพภายในประเทศ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยในปี 2562 มีการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมแล้ว หลายสาขา อาทิการฝึกด้านเทคโนโลยีชั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ EEC และโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(GMS-ASEAN) มีเป้าหมาย 2,000 คน ดำเนินการไปแล้วถึง 2,123 คน
“ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน กำลังเปิดหลักสูตรฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก 2 สาขา เพื่อรองรับเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ 1.การประกอบอาหารเพื่อการค้า เปิดการฝึกอบรม 17 – 19 ก.ย. 2562 เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร แรงงานอิสระ และผู้ว่างงาน (มาจากหลายจังหวัด) จำนวน 27 คน 2. เทคนิคการขับรถยกและจัดการคลังสินค้า เปิดการฝึกอบรม 16 – 21 ก.ย. 2562 เป็นนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฎอุตรดิตถ์ จำนวน 24 คน และในปีงบประมาณ 2563 มีเป้าหมายการดำเนินงานอีก 2,000 คน” ผู้สนใจสามารถโทรสอบถามที่เบอร์ 053-777-4714 ต่อ 1102 หรือตรวจสอบข้อมูลทางเว็บไซต์ www.dsd.go.th/Chiangsaen หรือสายด่วน 1506 กด 4 นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย