รมต. จิราพร เปิดงานวันน้ำโลก ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

สทนช. จัดงานวันน้ำโลก ปี 2568 สอดรับประเด็น UN เรื่องการอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง แหล่งน้ำจืดโลกที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว พร้อมฉายวิดีทัศน์การแถลงสารจากนายกรัฐมนตรี ประกาศเจตนารมณ์การอนุรักษ์แหล่งน้ำและการปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำโลก

วันที่ 21 มีนาคม 2568 นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันน้ำโลก ประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” สอดรับกับประเด็น “Glacier Preservation” หรือ “การอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง” ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนด โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เอกอัครราชทูตและผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีความร่วมมือด้านน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงภาคประชาชน จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องแคทลียา ชั้น 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยในช่วงพิธีเปิดงานได้ฉายวิดีทัศน์การแถลงสารจากนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศนโยบายและเจตนารมณ์ในการรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำของโลก

นางสาวจิราพร เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” (World Water Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปีนี้ได้เน้นให้เห็นถึงวิกฤตภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นกับธารน้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของโลก ซึ่งขณะนี้กำลังละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของประชากรโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากการละลายของธารน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น กรุงเทพมหานครและพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทย ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดทั้งภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงและถี่ขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทรัพยากรน้ำ การเกษตร และความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น การอนุรักษ์และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่มีความสำคัญระดับโลก การจัดงานวันน้ำโลกจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่เป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักและร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อสร้างแนวทางการใช้น้ำอย่างยั่งยืน

ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว โดยเลขาธิการสหประชาชาติได้แถลงเตือนเมื่อปี 2566 ว่า โลกได้สิ้นสุดจากภาวะโลกร้อนเข้าสู่ยุคของภาวะโลกเดือด หรือ Global Boiling แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบที่สำคัญหลายประการ ทั้งการละลายของธารน้ำแข็งรวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ผลกระทบจากน้ำท่วมน้ำแล้งมีความรุนแรงขึ้น คุณภาพน้ำและระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง ซึ่งถือเป็นปัญหาและความท้าทายด้านน้ำที่นานาประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ โดยในช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยต้องประสบกับสภาวะเอลนีโญและลานีญาที่ส่งผลต่อการเกิดภัยแล้งและอุทกภัยอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เช่น การเกิดภัยแล้งรุนแรงในปี 2557 การเกิดพายุไต้ฝุ่นยางิซึ่งเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นในปี 2567 การตรวจค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่พบสถิติสูงสุดเท่าที่เคยเกิดในปี 2564 จากน้ำทะเลหนุน รวมทั้งในปีนี้ที่ประเทศไทยยังคงประสบกับสภาวะลานีญาและคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายนนี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านทรัพยากรน้ำต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ สทนช. ได้กำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี สำหรับเป็นกรอบแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมมาตรการประจำปีเพื่อบรรเทาภัยที่อาจเกิดขึ้นจากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในฤดูแล้งนี้ สทนช. ร่วมกับทุกภาคส่วนได้ขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ล่วงหน้า โดยเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำโก – ลก รวมทั้งได้สร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ องค์กรระดับโลกและภูมิภาค ที่สำคัญ รวมถึงยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านน้ำในระดับภูมิภาคด้วย

“สำหรับงานวันน้ำโลกในปีนี้มีเป้าหมายเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว โดยเฉพาะการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change Adaptation ซึ่งเป็นหัวข้อการเสวนาภายในงาน ซึ่งนอกจากการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองจากตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยมีนางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ ผู้แทนประชาสัมพันธ์ (Brand Ambassador) ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ ของ สทนช. ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความรู้เกี่ยวกับธารน้ำแข็ง ประเด็นปัญหาและความท้าทายด้านน้ำ ไปจนถึงการรับมือภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่เราทุกคนจะหันมาใส่ใจและตระหนักถึงปัญหาน้ำอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระดับประเทศถึงระดับโลก เพราะน้ำคือชีวิต และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนคือกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่มั่นคง” ดร.สุรสีห์ กล่าว