กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ นาโนเทค สวทช. ลงนามความร่วมมือเดินหน้าจัดทำแผนที่นำทางนาโนเทคโนโลยี ส่งเสริมการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย

วันที่ 18 มีนาคม 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการจัดทำ “แผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย พ.ศ. 2569 – 2575” ส่งเสริมการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ และสร้างเครือข่ายด้านนาโนเทคโนโลยี นำร่อง 4 ประเด็นมุ่งเน้น คือ การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง พลังงานสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรอาหารเพื่อความยั่งยืน ความปลอดภัยและจริยธรรมทางนาโนเทคโนโลยี (Nanosafety & Nanoethics) ตั้งเป้ายกระดับผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในทุกภาคส่วน

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ในการทบทวนแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศให้สอดรับกับเป้าหมายและบริบทของระบบ ววน. ในปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ

“สำหรับประเทศไทย นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ระบบ ววน. และใช้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ ได้รวมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เชื่อมั่นว่า แผนที่นำทางฉบับนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างแท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้ก้าวหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าว

ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอบทบาทของ สอวช. ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยเล่าถึงการจัดทำแผนที่นำทางด้านนาโนเทคโนโลยี ร่วมกับ สวทช. ตั้งแต่ยังอยู่ในหน่วยงานเดิม คือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นการนำเครื่องมือต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาช่วยจัดทำแผนที่นำทางฯ เพื่อหาแนวทางการพัฒนานาโนเทคโนโลยี รวมถึงการขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่าควรจะทำอะไร ทำเมื่อไหร่ และจะเกิดผลสำเร็จอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดแผนที่นำทางฯ มาแล้วรวม 3 เล่ม และที่ผ่านมาพบว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นงานที่สร้างให้เกิดผลกระทบสูง และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ การจัดทำแผนที่นำทางฯ ร่วมกันในครั้งนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนาต่อยอดจากแผนเดิม และยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแผนใหญ่อื่น ๆ ของประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ที่ สอวช. มีส่วนร่วมในการหารือการจัดทำร่างแผนฯ กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และแผนด้านการอุดมศึกษา ที่ทำร่วมกับคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) และยังมีกลไกที่สำคัญคือ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะช่วยสนับสนุนให้แผนที่จะทำเกิดความสำเร็จได้

“สอวช. มี 2 บทบาท ทั้งการทำงานเป็นเสมือน Think Tank หรือมันสมองของกระทรวง อว. ในเรื่องการทำนโยบาย โดยที่ผ่านมาเราได้ทำงานเชื่อมโยงกับงานของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และอีกบทบาทคือการเป็นเลขานุการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะต้องนำเสนอทิศทางนโยบายและแผนต่าง ๆ ที่ประเทศควรเดินไป ซึ่งประเด็นเรื่องนาโนเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่สามารถนำไปเสนอต่อสภานโยบายและเสนอต่อรัฐบาล เพื่อช่วยสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศได้” ดร.สุรชัย กล่าว

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ โดยแผนฯ ฉบับที่ 3 ได้สิ้นสุดลงใน ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งดำเนินการจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) หรือ สอวช. ในปัจจุบัน ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ดังนั้น เพื่อให้การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย สอดรับกับนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ตลอดจนพันธกิจของภาคอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นในการทบทวนทิศทางการวิจัยพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีให้ชัดเจนและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ได้แก่ จัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย (Thailand Nanotechnology Roadmap) ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2569 – พ.ศ. 2575) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานด้านการวิจัย สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ ที่จะช่วยต่อยอดและยกระดับผลงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในทุกภาคส่วน

“นาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีแห่งการผลิตในอนาคต และมีศักยภาพในมิติของการเติบโตทางการตลาด แผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย พ.ศ. 2569 – 2575 ที่จะเกิดขึ้นนี้ คาดหวังว่า จะมีบทบาทสำคัญ สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมนำร่อง คือ การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง, พลังงานสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเกษตรอาหารเพื่อความยั่งยืน พร้อมยกระดับผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในทุกภาคส่วน” ดร.อุรชา เผย

ทั้งนี้ หลังจากพิธีลงนามความร่วมมือฯ ยังได้มีการจัดประชุมคณะทำงานการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย พ.ศ. 2569-2575 ครั้งที่ 1/2568 เพื่อเป็นการเริ่มต้นหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ให้มองเห็นถึงภาพรวมการทำงานร่วมกันและนำไปสู่การจัดทำแผนที่นำทางฯ ได้ต่อไป