1.วันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ : วันที่ 9 – 13 มี.ค. 68 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางแห่ง ส่วนลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะส่งผลให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 66% ของความจุเก็บกัก (53,215 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 50% (29,065 ล้าน ลบ.ม.)
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 5 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : แม่มอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ลำตะคอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : คลองสียัด
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 53 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคตะวันตก 8 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ
1) วางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด
2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง
3) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือ ผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. สถานการณ์การเพาะปลูกพืช : แผนและผลการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68
ทั้งประเทศ ณ วันที่ 5 มี.ค. 68 แผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 15.38 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 13.42 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนการเพาะปลูก โดยมีพื้นที่นาปรังเก็บเกี่ยวแล้ว 1.30 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในกรอบแผนฯ จำแนกได้ดังนี้
– แผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 12.73 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 11.94 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนการเพาะปลูก (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกข้าวนาปรัง 7.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนการเพาะปลูก)
– แผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผักทั้งประเทศ 2.65 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.48 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนการเพาะปลูก
ทั้งนี้ สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตาม ประชาสัมพันธ์ และลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับการประหยัดน้ำ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำ และรับฟังปัญหา พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางการแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
4. การดำเนินการตามมาตรการ : กรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยเตรียมส่งน้ำเข้าพื้นที่ทุ่งบางระกำ เพื่อรองรับการเพาะปลูกตามปฏิทินการเพาะปลูก เริ่ม 1 เมษายน 2568 โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ทั้งนี้ พื้นที่ทุ่งบางระกำมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังรวมทั้งสิ้น 264,805 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตบางส่วน และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2568 กรมชลประทานจะดำเนินการทยอยส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อให้เกษตรกรสามารถเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตามแผนที่กำหนด
ทั้งนี้ ในปี 2568 ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนโดยวางแผนการจัดสรรน้ำจากเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมปริมาณ 390 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ตามแผนการเพาะปลูก และคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวนาปีได้แล้วเสร็จภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2568 หรือก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตจากน้ำท่วม รวมถึงช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนบนและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างต่อไป