สนค. คาดสถานการณ์น้ำมันในซาอุดิอาระเบียมีผลต่อราคาน้ำมันเพียงระยะสั้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์โรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีอย่างรุนแรงด้วยโดรนจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เกิดความเสียหายอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันและก๊าซลดลงครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิต หรือประมาณ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 5.0 ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก ซึ่งช่วงเช้าของวันที่ 16 กันยายน 2562 ราคาน้ำมัน Brent Oil ปรับเพิ่มสูงขึ้น 10 เหรียญ มีมูลค่า 72 เหรียญ/บาร์เรล

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันสามารถคาดการณ์ได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 สถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ โดย (1) ซาอุดิอาระเบียสามารถแก้ไขสถานการณ์เป็นปกติและกลับมาผลิตในระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว (2) ไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกครั้งทั้งในประเทศซาอุดิอาระเบียหรือประเทศผู้ผลิตน้ำมันสำคัญรายอื่นๆ (3) สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ขยายวงอันนำมาสู่ผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และ (4) ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นๆ สามารถส่งออกน้ำมันชดเชยการลดลงของซาอุดิอาระเบียได้ ภายใต้ข้อสมมติฐานนี้คาดว่าราคาน้ำมันในเดือนกันยายนจะปรับสูงขึ้นเป็น 65 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบารเรล ก่อนที่จะลดลงเข้าสู่ปกติในช่วงที่เหลือของปีในระดับ 62.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปี (กันยายน-ธันวาคม 2562) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.1 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 69.4 หรือลดลงร้อยละ 9.0

กรณีที่ 2 สถานการณ์ยืดเยื้อ ทำให้ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลืออยู่ที่ 65 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล เนื่องจากอาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่คาดไม่ถึงส่งผลให้ราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง ในกรณีนี้จะทำให้น้ำมันในช่วงที่เหลือของปี (กันยายน-ธันวาคม 2562) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 69.4 หรือลดลงร้อยละ 6.3

นางสาวพิมพ์ชนก คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อ (กรณีที่ 1) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าคาดการณ์เดิมเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.01 และทั้งปียังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.7-1.3 อย่างไรก็ตาม พบว่าผลของน้ำมันไม่ว่ากรณีที่ 1 หรือ 2 จะส่งผลต่อเงินเฟ้อน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลของค่าเงิน โดย สนค. คาดว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้เงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.17 และทำให้เงินเฟ้อทั้งปีต่ำกว่า 1.0

สำหรับการส่งออกจะปรับตัวดีกว่าคาดการณ์เดิมประมาณร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ สนค. ยังคงเป้าหมายการส่งออกในครึ่งปีหลังที่ร้อยละ 3.0 ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

………………………………………

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

กันยายน 2562