สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดงานเปิดตัวระบบประมวลผล Big Data สินค้าเกษตรสำคัญ และการรับฟังความคิดเห็นยุทธศาสตร์การค้าเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) รวมถึงแผนแม่บทการพัฒนา MOC Big Data Roadmap เพื่อนำเทคโนโลยีด้าน Big Data มาขับเคลื่อนภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้งาน “ร่วมคิด ร่วมค้า ท้าทายเศรษฐกิจโลก: การรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนากลยุทธ์การค้าเศรษฐกิจใหม่” ในวันพุธที่ 18 กันยายน 2562 ณ โรงแรม Swissotel Le Concorde กรุงเทพ รัชดา
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้เปิดเผยว่า สนค. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการค้าแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจการค้าด้วยเทคโนโลยี องค์ความรู้ และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าการค้าโลก ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าของประเทศไทย จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อทิศทางการพัฒนาการค้ารองรับกระแสเศรษฐกิจใหม่ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปใช้กำหนดทิศทางและกลไกการค้าสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน ดิจิทัลคอนเทนต์ และโลจิสติกส์การค้า โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนาและให้ความเห็นต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เพื่อนำข้อมูลไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์ชาติ
ภายใต้งานดังกล่าว ยังมีการเปิดตัวระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการตัดสินใจและกำหนดนโยบายด้านสินค้าเกษตรสำคัญ ระบบประมวลผลนี้ประกอบด้วยข้อมูลพืชเกษตรสำคัญ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในช่วงแรกจะพัฒนาระบบโดยเริ่มจากพืชเกษตรสำคัญ 3 ชนิดนำร่อง ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา
ระบบ Big Data จะมีการนำเสนอผ่านรูปแบบ Policy Dashboard สำหรับผู้บริหาร เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์ในด้านอุปทาน (Supply) และ อุปสงค์ (Demand) ทั้งในและนอกประเทศ สามารถคาดการณ์แนวโน้ม และเตือนภัย เพื่อกำหนดนโยบายรักษาเสถียรภาพด้านราคาได้ รวมถึงระบบกำกับและติดตามนโยบายด้านการรับฟังเสียงสะท้อนภาคประชาชน (Policy Dashboard: Social Analytics) ที่นำมาประกอบการวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น สำหรับให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันการณ์ และครอบคลุมทุกมิติ
———————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
กันยายน 2562