5 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ แสดงผลงานนวัตกรรม “The Crafter’s Pen” ปากกาจันติ้งไฟฟ้าอัจฉริยะแก่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมด้วย แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้โดยมี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ วิชชาลัยชุมชนบาติกโมเดล จังหวัด ปัตตานี
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับพื้นที่ สำหรับการพัฒนาปากกาจันติ้งไฟฟ้าเป็นแบบอย่างที่ดี และตนขอชื่นชมกรมวิทย์ฯบริการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “นวัตกรรมชิ้นนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์แห่งศิลปะดั้งเดิม สะท้อนอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นได้อย่างงดงาม นับเป็นการผสานนวัตกรรมเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทย์ฯบริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนวัตกรรมปากกาจันติ้งไฟฟ้า มีจุดเด่นในการควบคุมอุณหภูมิการหลอมเทียนที่แม่นยำ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเขียนลวดลายบนผ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเติมน้ำเทียนบ่อยครั้ง ลดปัญหาการแข็งตัวของน้ำเทียนที่ก่อให้เกิดการอุดตันบริเวณหัวปากการะหว่างการใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถเขียนลวดลายได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 35 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้แก๊สหุงต้มแบบเดิม ซึ่งสิ้นเปลืองมาก นอกจากนี้ ยังออกแบบมาให้พกพาสะดวก เน้นความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ลดความเสี่ยงจากการทำงานที่อาจจะเกิดโรคมะเร็งปอด และโรคหลอดลมในปอดเหมาะสำหรับผู้ประกอบการในชุมชนและกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการความคล่องตัวในกระบวนการผลิต นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์ลวดลายได้ประณีตและรวดเร็วขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างน้อย 2 เท่า และลดเวลาการทำงานลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง สามารถสร้างรายได้เดือนละประมาณ 40,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการผ้าบาติกในการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ เป็นการนำวิทยาศาสตร์มาสู่การพัฒนาชุมชน ให้สามารถดำรงอยู่และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน นับเป็นการดูแลพี่น้องประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความสงบสุขในพื้นที่ กระทรวง อว. ได้มอบหมายกรมวิทย์ฯบริการมุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านการบูรณาการงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชนอย่างแท้จริง
#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #กรมวิทย์ฯบริการ #กระทรวงอว #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม