นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมากรมประมงพยายามปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรือประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน เพื่อยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้ตรงกับที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ควบคู่ไปกับการลดขั้นตอน ลดความยุ่งยาก อำนวยความสะดวกให้ผู้ขอรับบริการ โดยเฉพาะเรื่องของแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปิดขอหนังสือคนประจำเรือ กรณีไม่มีใบอนุญาตทำงาน (Seabook เล่มสีเหลือง ) ปีละ 2 รอบ รอบที่ 1 ระหว่าง 14 เมษายน – 30 มิถุนายน และรอบที่ 2 ระหว่าง 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน ซึ่งยังมีแรงงานไม่เพียงพอในการประกอบอาชีพของชาวประมง
กรมประมงจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการประมงทะเล โดยการปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเดิม เพื่อรองรับมาตรการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาแรงงานและคุ้มครองให้คนต่างด้าวได้รับการจ้างงาน โดยถูกกฎหมายได้ และต้องออกประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษและทำงานต่อไปได้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง เป็นไปอย่างเหมาะสม
โดยจากการเสนอของกรมประมง ผ่านการผลักดันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ออกประกาศทั้ง 2 ฉบับ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มีผลใช้บังคับแล้วในวันนี้ โดยประกาศดังกล่าวกำหนดให้สามารถออกหนังสือคนประจำเรือกรณีพิเศษ (Seabook เล่มสีเหลือง) ได้ตลอดทั้งปี จากเดิมการขอ Seabook เล่มสีเหลืองได้เพียงปีละ 2 ครั้ง และเปิดเพิ่มแรงงานสัญชาติเวียดนามให้สามารถมายื่นขอ Seabook เล่มสีเหลืองได้ และสามารถเพิ่มสัญชาติอื่น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด เพื่อรองรับการเปิดให้แรงงานสัญชาติอื่นสามารถมาทำงานในภาคประมงทะเลได้ในอนาคต อีกทั้งปรับการรับเอกสารบางรายการที่เป็นอุปสรรคในการขอรับหนังสือคนประจำเรือให้สะดวกและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง ช่วยให้ผู้ประกอบการประมงสามารถทำประมงได้อย่างไม่ติดขัด เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ และยังเป็นการช่วยป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย ทำให้เกิดการส่งเสริมการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคประมงของประเทศต่อไป