มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดย ศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.ถนัด คอมันตร์ ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) และสำนักนโยบายและแผน กระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการสัมมนา เรื่อง “การต่างประเทศไทย: มุมมองภาคประชาชน” (Thailand’s International Affairs through the People’s Lens) เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี การสถาปนากระทรวงการต่างประเทศ ศูนย์ศึกษา -การต่างประเทศ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ณ ห้องประชุม EILA 6 ชั้น 8 อาคารสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ (LRC 1) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568
ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Foreign Policy: Continuity and Change” โดย ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ การเสวนาในหัวข้อ “การต่างประเทศ: มุมมองภาคประชาชน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติภัทร พูนขำ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายชนินทร์ สาครินทร์ อุปนายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา ดร.ฮาฟีส สาและ หัวหน้าศูนย์สมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา นายทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ดำเนินการเสวนา โดย ดร. ครองขวัญ ไตรทองอยู่ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ (รอบจังหวัดสงขลา) ในหัวข้อ “Shaping Thailand’s Global Role: How Can Thailand Leverage Its Strategic Location to Advance National Interests Amidst the Changing Geopolitical Landscape?” เพื่อชิงเงินรางวัล พร้อมถ้วยรางวัลและเกียรติบัตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสัมมนาระดมสมองเพื่อสะท้อนมุมมองและความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการต่อประเด็นสำคัญในด้านการต่างประเทศในอนาคต และการรับฟังมุมมองของเยาวชนในรูปแบบการประกวดสุนทรพจน์ของนักศึกษาในระดับปริญญาตรีในหัวข้อที่น่าสนใจ นั่นคือ ไทยจะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคในการเสริมสร้างผลประโยชน์แห่งชาติของไทยได้อย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการและนวัตกรรม องค์ความรู้และมุมมองที่ได้รับจากการสัมมนานี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดโจทย์วิจัยเพื่อการพัฒนาภาคใต้และประเทศไทยด้วยการเชื่อมโยงกับสังคมและเครือข่ายสากล