นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ภายในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชุมชนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและ หน่วยงานวิจัย ซึ่งทุกฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ไม้ภายในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ภายในประเทศไทยอย่างยั่งยืน สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และ BCG ในประเทศไทย มุ่งเน้นให้เกิดกลไกสนับสนุนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในการดำเนินการส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้น ไม้มีค่าในพื้นที่เกษตรกรรม โดยปี 2566 มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ รูปแบบแนวทางการส่งเสริมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และจัดทำเอกสารคำแนะนำ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ “การปลูกไม้ยืนต้นไม้มีค่าตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” แก่เกษตรกร และในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรมีการนำร่องส่งเสริมการขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างมูลค่า (ไม้ยืนต้น ไม้มีค่า) เพื่อพัฒนาแปลงต้นแบบให้เป็นจุดเรียนรู้และขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่เกษตรกรรายอื่น ดำเนินการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เพชรบุรี ระยอง ขอนแก่น สงขลา และเชียงราย กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะที่ทำงานอย่างใกล้ชิดเกษตรกร และมีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นเครือข่ายในทุกพื้นที่ประมาณ 200,000 คน สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจการใช้ไม้ในทางอุตสาหกรรมไปยังเกษตรกร ซึ่งการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ภายในประเทศไทยอย่างยั่งยืนนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรที่ปลูกไม้ในพื้นที่การเกษตร ที่ได้เห็นถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ใช้สอยตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น ไผ่ สามารถใช้หน่อมาบริโภค ลำ สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ และนำส่วนที่ได้จากการตัดแต่งมาทำเป็นถ่านชาร์โคลได้ โดยมีวิสาหกิจชุมชนที่มีการจดทะเบียนเกี่ยวกับการปลูกไม้ประมาณ 2,000 ราย สามารถเกิดเป็นเครือข่ายร่วมกันในการทำงานเกี่ยวกับไม้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ภายในประเทศไทยอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมที่ดิน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ โดยมีบทบาทและหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการใช้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อย่างยั่งยืน สนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการจัดการสวนอย่างยั่งยืนและมีการผลิตไม้มีคุณภาพ และให้ความรู้ความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลภาครัฐที่จำเป็นต่อการส่งเสริมการใช้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อย่างยั่งยืน โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีระยะเวลา 3 ปี มีผลนับตั้งแต่วันที่ลงนาม (31 มกราคม พ.ศ. 2568 ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2571) โดยมีการประเมินผลการดำเนินงานทุกปี และสามารถต่ออายุได้ด้วยความ เห็นชอบจากทุกฝ่าย