สำนักงาน ปปง. แถลงผลการดำเนินการกับทรัพย์สินในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงฯ และการพนันออนไลน์ในช่วงเดือนธ.ค.67- ม.ค.68 และมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาบัญชีม้า

วันที่ 23 มกราคม 2568 นายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. และโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมซึ่งมีนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. เป็นกรรมการและเลขานุการ ในช่วงเดือนธันวาคม 2567- เดือนมกราคม 2568 โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การพนันออนไลน์ และมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ซึ่งสรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้

1. ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 15 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 510 ล้านบาท แบ่งเป็นการยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 8 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 507 ล้านบาท และดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 7 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท

โดยมีรายคดีที่น่าสนใจ คือ

– รายคดี นางสาวสุรีวรรณฯ กับพวก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์มีพฤติการณ์โอนและรับโอนเงินเชื่อมโยงกับความผิดมูลฐานในคดีอื่นหลายคดี และเป็นเครือข่ายการฟอกเงินรายสำคัญ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 125 รายการ เป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 505 ล้านบาท (คำสั่ง ย.249/2567)

2. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 15 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 6,529 ล้านบาท โดยมีการดำเนินการที่น่าสนใจ คือ

2.1 การยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 5 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 329 ล้านบาท โดยมีรายคดี   ที่น่าสนใจ ดังนี้

รายคดี นายษิทราฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีเหตุที่อันควรเชื่อได้ว่ามีการโอน ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 3 รายการ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท (คำสั่ง ย.243/2567)

– รายคดี นางสาวเจียนฯ กับพวก (สัญชาติจีน) คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 59 รายการ มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท (ย.168/2567) และจากการสืบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม ในการนี้คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ (ห้องชุด และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 78 ล้านบาท (คำสั่ง ย.241/2567)

รายคดี นางสาวเดือนนภาฯ กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้วรวม 118 รายการ มูลค่าประมาณ 574 ล้านบาท (ย.254/2566, ย.94/2567) และจากการสืบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม ในการนี้คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 4 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง) รวมมูลค่าประมาณ 95 ล้านบาท (คำสั่ง ย.250/2567)

รายคดี นายภานุวัชรฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด  จำนวน 22 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 81 ล้านบาท (คำสั่ง ย.244/2567)

2.2 ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 2 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท โดยมีข้อมูลการดำเนินการกับทรัพย์สินที่น่าสนใจ ดังนี้

รายคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำสั่งที่ ย.214/2567, ย. 222/2567, ย.223/2567, ย.224/2567 และ ย.225/2567 รวมจำนวน 103 รายการ มูลค่าประมาณ 286 ล้านบาท และมีมติให้เพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สินจำนวน 40 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 29 ล้านบาท เนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงหลักฐานว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกดำเนินการไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

– รายคดี นายสฤษฎ์ฯ กับพวก กรณีเกี่ยวเนื่องกับบริษัทเหลียนเชิง จำกัด คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องของให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 130 รายการ (คำสั่ง ย. 193/2567) ซึ่งมีทรัพย์สินที่เป็นโครงการก่อสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่ รวมมูลค่าประมาณ 2,552 ล้าน

ทั้งนี้ ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีที่มีผู้เสียหายฯ สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  จากนั้น สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบและรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายและจำนวนความเสียหายเพื่อพิจารณาก่อนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ  ยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนให้กับผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไชต์ สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th)

2.3 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย)  จำนวน 8 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 3,400 ล้านบาท โดยมีข้อมูลการดำเนินการกับทรัพย์สินที่น่าสนใจ ดังนี้

– รายคดี นางสาวรัชญาฯ กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สิน จำนวน 303 รายการ (เช่น ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ เงินสด สินค้าแบรนด์เนม และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 142/2567)

– รายคดี นายชนินทร์ฯ กับพวก (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งเป็นความผิดมูฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และการยักยอกฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งการดำเนินการกับทรัพย์สินในกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง โดยสำนักงาน ปปง. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ เสร็จสิ้นแล้ว และคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายกว่า 3,900 ราย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สิน จำนวน 50 รายการ (เช่น ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 3,244 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 222/2566 และ ย. 32/67)

3. ความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 10 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 158 ล้านบาท แบ่งเป็นการยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 5 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 104 ล้านบาท และดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 5 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 54 ล้านบาท

โดยมีรายคดีที่น่าสนใจ ดังนี้

– รายคดี www.sand168.com กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยจากการสืบสวนพบว่ามีการชักชวน ให้บุคคลทั่วไปเล่นพนันออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว และจากการตรวจสอบพบข้อมูลการโอนและรับโอนเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 742 รายการ (เช่น เงินสด ทองรูปพรรณ วัตถุมงคล สินค้าแบรนด์เนม และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท (คำสั่ง ย.7/2568)

รายคดี www.ufav8.info รายนายปรเมศวร์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 72 รายการ (เช่น พระเครื่อง เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์) มูลค่าประมาณ 24 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 238/2567)

รายคดี นางสาวจันจิราฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 164 รายการ (เช่น เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์) มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท (ย.230/2567)

4. การประกาศรายชื่อบุคคลเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเพื่อจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาบัญชีม้าและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศรายชื่อบุคคลเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเพื่อจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 72,031 รายชื่อ ส่งผลให้สามารถจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีที่เกี่ยวข้อง 680,186 บัญชี สามารถป้องกันการนำบัญชีดังกล่าวไปใช้หลอกลวงหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนต่อไป ปัจจุบันมีเงินคงเหลือในบัญชีที่ถูกจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสิ้น 2,036,534,545.29 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2568)